“หมูเถื่อน” เริ่มเข้ามาอาละวาดในเมืองไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 หลังรัฐบาลไทยยอมรับอย่างเป็นทางการว่าพบการระบาดของโรค ASF กระทบภาคการผลิตทำให้หมูหายไปครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตปกติ
อ้างอิงจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศรายงานว่าในสถานการณ์ปกติไทยมีแม่หมูประมาณ 1.2 ล้านตัว เพื่อผลิตหมูขุนจำนวน 21 ล้านตัว
ซึ่งเป็นปริมาณที่สมดุลอุปสงค์-อุปทานในประเทศ แต่ปัจจุบันแม่หมูเหลือเพียง 6-7 แสนตัว คาดว่าปี 2565 ไทยจะมีหมูขุนได้ 12-15 ล้านตัวต่อปี ทำให้ราคาปรับตามขึ้นตามกลไกตลาด
การปล่อยให้หลักการกลไกตลาดทำงาน ราคาเฉลี่ยเนื้อหมูในประเทศจะวิ่งอยู่ประมาณ 200-250 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นกับว่าเป็นชิ้นส่วนอะไร สอดคล้องกับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มซึ่งทรงตัวมามากกว่า 15 สัปดาห์แล้ว ที่ราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ ผู้บริโภคเริ่มเข้าใจสถานการณ์เพราะยังมีหมูที่ไม่ติดโรคทยอยออกสู่ตลาดต่อเนื่องแต่ยังคงน้อย ราคาจึงสูงกว่าช่วงเวลาปกติ
ที่สำคัญราคาแพงช่วงที่ประเทศเจอปัญหาเดียวกับทั่วโลก คือ เงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอตัว ข้าวของจึงไม่ได้แพงเฉพาะเนื้อหมู แต่แพงทุกรายการตามต้นทุนการผลิตที่สูง และไม่ได้แพงเฉพาะประเทศไทยแต่แพงทั่วโลก ซึ่งผู้บริโภคต้องตระหนักในข้อเท็จจริงข้อนี้ด้วย
สำหรับคนไทย เนื้อหมูเป็นเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมบริโภคในอันดับต้นๆ เมื่อผลผลิตขาดแคลนราคาก็ปรับสูงมากและดันราคาเนื้อหมูปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
จึงเสนอให้มีการนำเข้าเพื่อแก้ปัญหา “ของน้อย ราคาสูง” แต่ภาครัฐตัดสินใจไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อความปลอดภัยของคนไทยในระยะยาว
จากหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ราคาเฉลี่ย 72-73 บาท/กิโลกรัม ในปี 2563 เป็น 100 บาท/กิโลกรัม ในปี 2565 (ณ เดือนสิงหาคม) ผู้บริโภคค่อยปรับตัว ซื้อน้อยลง หันไปกินโปรตีนจากไก่แทน ให้เหมาะสมกับเงินในกระเป๋า
“หมูเถื่อน” หรือ “หมูกล่อง” เป็นช่องทางแสวงหากำไรของพวกฉวยโอกาสจากส่วนต่างต้นทุนหมูนอกที่กิโลกรัมละประมาณ 40 บาท แต่ของไทย 100 บาท สำหรับร้านค้าอาหารตามสั่งและร้านหมูกระทะเป็นช่องทางในการลดต้นทุนวัตถุดิบจากราคาเนื้อหมูไทย 200 บาทต่อกิโลกรัม
หมูเถื่อนล่อใจด้วยราคา 135-145 บาทต่อกิโลกรัม (พร้อมของแถมเป็นสารเร่งเนื้อแดง) เพื่อยืนหยัดราคาบุฟเฟ่ต์และรักษาฐานลูกค้า โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกและตัดสินใจ
นอกจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขอนามัยของผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ผู้เลี้ยงเป็นกลุ่มเสี่ยงไม่ต่างกับผู้บริโภค แต่ต้นทุนการเลี้ยงหมู 1 ตัว ของเกษตรกรประมาณ 10,000 บาท ใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือน
ขณะที่ร้านหมูกระทะสนนราคาตั้ง 239-400 บาท ซึ่งไม่สามารถเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงหมู 1 ตัวได้ แต่ควรตั้งข้อสังเกตุว่า ที่ร้านหมูกระทะสามารถเสนอราคาต่ำได้ มาจากต้นทุนเนื้อสัตว์ที่ต่ำใช่หรือไม่
เพราะคงไม่มีใครทำการค้าเพื่อยอมรับภาระขาดทุนแน่นอน ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวังหากไม่อยากได้สารเร่งเนื้อแดงไปสะสมในร่างกาย
กรมปศุสัตว์ ก็ออกมายอมรับว่ามีหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าจำนวนมากจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจพบซากสัตว์มากกว่า 42 ล้านกิโลกรัม และมีการยึดซากสัตว์มากกว่า 108,734 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2565 มี พวกที่เล็ดลอดการจับกุมถูกนำไปขายปะปนบนเขียงหมู
ซึ่งยากที่จะบอกว่าหมูไทย หมูเถื่อนเป็นหมูที่ตายแล้ว อาจทำให้เนื้อไม่สด มีสารปนเปื้อน ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
แม้ว่าภาครัฐจะปราบปรามแต่ยังไม่หมด ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูผิดกฎหมายยังมีให้เห็นต่อเนื่อง จับกุมได้จากห้องเย็นในพื้นที่ซ้ำๆ แต่แทบไม่เคยเปิดเผยชื่อเจ้าของห้องเย็นหรือเจ้าของสินค้า ให้สังคมรับทราบแล้วก็เงียบหายไปกับสายลม
ภาครัฐต้องเข้มแข็งและเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามหมูเถื่อนให้สิ้นซาก ด้วยความโปรงใส บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนคนไทยเป็นหลัก หาใช่ผลประโยชน์ของขบวนการใต้ดินที่จ้องหาประโยชน์ส่วนตัว