บริติช เคานซิล ผลักดัน Tiktoker สายวิทย์คนดัง ที่มีคนติดตามกว่า 2 ล้านคน สู่ตัวแทนชาวไทย คว้ารางวัลบนเวที ‘เฟมแล็บ อินเตอร์เนชันแนล 2021’

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารในยุคศตวรรษที่ 21 นั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป เพราะในโลกยุคใหม่นี้ใครๆ ก็เป็นนักสื่อสาร หรือ นักเล่าเรื่องราวที่ดีได้ เพียงแค่มีทักษะการสื่อสารที่ดี คอนเทนต์ที่ปัง พร้อมช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย ก็สามารถสร้างแจ้งเกิดให้กับคนธรรมดาให้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางโลกโซเชียลได้เลย เฉกเช่นเดียวกับ ครีเอเตอร์ หนุ่มสุดฮอต ‘ไอซ์ สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล’ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของช่อง AJ ICE จากแฟลตฟอร์ม TikTok ที่หยิบยกเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาย่อยให้เข้าใจง่าย ดึงดูดคนดูด้วยลีลาการเล่าอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนทำให้มีผู้ติดตามถึง 2 ล้านราย

นอกจากนี้ หนุ่มไอซ์ ยังมีดีกรีถึง ด็อกเตอร์ ด้าน ชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) จาก อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร (Imperial College London) โดยบทความในวันนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับตัวแทนชาวไทยเพียงหนึ่งเดียว ที่ได้ร่วมแข่งขัน FameLab International 2021 เวทีสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่มีผู้เข้าแข่งขันจาก 25 ประเทศทั่วโลก จนสามารถคว้ารางวัล The Audience Choice มาครอง พร้อมแชร์ 3 ทริค สุดปัง สู่การเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ดีกรีรางวัลระดับโลก

ครีเอเตอร์ สายวิทย์ ที่มียอดคนดูกว่า ‘100 ล้าน Like’

ดร. สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล อาจารย์สังกัดสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าถึง จุดเริ่มต้นของการทำช่องใน TikTok ว่า เริ่มต้นมาจากที่ตนเองนั้นเพิ่งได้รับการบรรจุใหม่เป็นอาจารย์ ซึ่งในขณะนั้นตนยังไม่มีความมั่นใจในทักษะด้านการพูด

ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทาง TikTok มีแคมเปญ TikTok Uni ซึ่งสนับสนุนครีเอเตอร์ที่ทำคอนเทนต์ด้านความรู้ ในหลายแขนงวิชาและทักษะความสามารถมาส่งต่อความรู้ในรูปแบบคอนเทนต์วิดีโอสั้นๆ ตนเลยมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ได้ฝึกฝนทักษะการทำคอนเทนต์และพัฒนาการสื่อสารของตนเองไปด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งต่อความรู้วิทยาศาสตร์ที่คนสนใจแต่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยากมาสื่อสารในรูปแบบของคอนเทนต์ที่เข้าใจได้ง่าย ผ่านแฮชแท็ก #วิทย์ที่คุณไม่รู้

เช่น เรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ หรือปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงเนื้อหาเกี่ยวกับโลกดาราศาสตร์และอวกาศ มาย่อยและไขข้อสงสัยเป็นวิดีโอเนื้อหาสั้นตามรูปแบบของแพลตฟอร์ม โดยได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จากทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่นักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไปที่มีความสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ จนปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านราย และมียอดกดไลก์สูงถึง 105 ล้านไลก์

“เพราะวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราแต่เรากลับมีช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับคนทั่วไป ที่สำคัญที่สุดคือ วิทยาศาสตร์สอนให้เราคิดวิเคราะห์โดยใช้เหตุผลเป็นหลัก หากคนในสังคมได้รับการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดี มีความคิดเชิงเหตุผลแบบนักวิทยาศาสตร์ ก็จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องและทำให้เราไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ โดยเฉพาะข่าวสารตามโซเชียลมีเดียที่มีให้เห็นว่าผิดอยู่เรื่อย ๆ”

ตัวแทนชาวไทยคว้ารางวัลในเวที ‘เฟมแล็บ อินเตอร์เนชันแนล 2021’

ดร.ไอซ์ เปิดเผยถึงประสบการณ์ในการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในเวที เฟมแล็บ อินเตอร์เนชันแนล 2021 ว่าตนรู้สึกดีใจและตื่นเต้นกับการแข่งขันในรอบระดับนานาชาติเพราะได้เข้าไปเจอกับผู้เข้าแข่งขันที่เป็นสุดยอดของแต่ละประเทศ ซึ่งการแข่งขันในรอบนี้คือการเฟ้นหาที่สุดของที่สุดของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ทำให้ตนนั้นได้เตรียมตัวซักซ้อมทำการบ้านอย่างหนัก

โดยหัวข้อที่นำไปแข่งขันคือ “พลังของการคาดการณ์ท่ามกลางภาวะโรคระบาด (The power of prediction amid the pandemic)” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอกที่ว่าด้วยเรื่องของการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ของไวรัสเพื่อเป็นหนึ่งในก้าวแรกของการศึกษาพัฒนาวัคซีนและรักษาโรคระบาดอย่างโควิด-19 ด้วยความพยายามและการฝึกฝนมาอย่างหนักจึงทำให้ หัวข้อที่นำเสนอนั้นโดนใจคณะกรรมการและผู้ฟังจากทั้ง 25 ประเทศทั่วโลก จนสามารถคว้ารางวัลขวัญใจผู้ชมหรือ The Audience Choice มาจนได้

ดร. ไอซ์ ยังเล่าต่ออีกสิ่งที่ตนได้รับจากการเข้าร่วมครั้งนี้ คือ การร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ทั่วโลก พัฒนาทักษะการสื่อสารจากมาสเตอร์คลาส นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เทคนิคการสื่อสารของแต่ละประเทศ รวมถึงได้พบกับอดีตแชมป์ “เฟมแล็บ” ในปีต่างๆ ที่เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในสายงานวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับตน

และที่สำคัญคือการได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เข้าแข่งขันจากประเทศอื่นๆ ซึ่งเหมือนกับเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในสายงานวิทยาศาสตร์ซึ่งกันและกัน อย่างตนเองก็ได้มีการพูดคุยกับผู้เข้าแข่งขันประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ศึกษาเรื่องไวรัสเดงกีที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นเรื่องที่ตนสนใจอยู่เช่นกัน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ประเทศ

นอกจากนี้ หลังจากที่คว้ารางวัลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตนยังได้รับโอกาสต่างๆ อีกมากมาย ทั้งการเป็นพิธีกรในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรให้ร่วมแชร์ความรู้และเทคนิคกับการใช้ภาษาอังกฤษและการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกด้วย

3 ทริค สุดปัง ย่อยเรื่องวิทย์ยากๆ เป็นเรื่องง่ายๆ

ทั้งนี้ กว่าจะมาคว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะต้องผ่านการเตรียมตัวและฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น ดร.ไอซ์ ยังได้ร่วมแชร์ 3 ทริคสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างไรที่จะช่วยเปลี่ยนจากเรื่องยากๆ เป็นเรื่องสนุก ใน 3 นาที รวมทั้งมัดใจทั้งกรรมการและผู้ฟังให้อยู่หมัด อันได้แก่

1. เนื้อหาถูกต้องชัดเจน (Correct and Accurate Content) แน่นอนว่าการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์นั้นต้องการอาศัยความถูกต้องแม่นยำ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนที่ได้รับฟัง

2. สื่อสารเข้าใจง่าย (Easy to follow) เพราะเรื่องของวิทยาศาสตร์และงานวิจัยหลายครั้งเป็นเรื่องที่คนเข้าถึงได้ยาก นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดีควรจะต้องย่อยเนื้อหาให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย และ

3. การนำเสนออย่างมีเสน่ห์ และน่าสนใจ (Charisma) ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในเรื่องใดก็ตาม คนฟังย่อมอยากฟังผู้พูดที่มีแรงดึงดูดให้ชวนน่าหลงใหลและติดตามเนื้อหา ซึ่งเรื่องของการบริหารเสน่ห์นั้นก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคและสไตล์ของแต่ละคน อย่างไรก็ตามการเตรียมตัวและฝึกซ้อมมาอย่างดีก็จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ออกมาเป็นธรรมชาติ และมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

ทางด้าน นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า เฟมแล็บ เป็นเวทีการแข่งขันสื่อสารวิทยาศาสตร์ถือเริ่มต้นจากเทศกาลเชลต์นัมในสหราชอาณาจักร และบริติช เคานซิล ได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์มายาวนานกว่า 15 ปี และได้ส่งเสริมการแข่งขันในระดับประเทศกว่า 40 ประเทศ

โดยสำหรับในประเทศไทยเองได้ดำเนินการจัดแข่งขัน โครงการ ‘เฟมแล็บ’ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ และทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับทุกคน นอกจากนี้ ‘เฟมแล็บ’ ยังถือเป็นอีกหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ตลอดจนการยกระดับความรู้ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ไทยให้ทัดเทียมในระดับสากล

สำหรับการแข่งขัน “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” (FameLab Thailand 2021) นั้นเป็นการดำเนินการในปีสุดท้ายของ
บริติช เคานซิล ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน หลังจากนี้ โครงการ เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2022 จะดำเนินการโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการสื่อสารวิทยาศาสตร์และงานวิจัยให้กับบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ

“อย่างไรก็ตาม บริติช เคานซิล ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาด้านความเชื่อมั่นต่อวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ และขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ ผ่านการดำเนินงานโครงการ Going Global Partnerships ต่อยอดผลผลิตจากเวทีเฟมแล็บ และเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป” นางเฮลก้า สรุปทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ British Council Thailand


Written By
More from pp
ฟื้นฟู และดูแล ให้ประชาชนได้อุ่นใจ คลายความกังวล พื้นที่อุทกภัย จ.อุตรดิตถ์
ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 35 ให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพ พร้อมกับนำชุดแพทย์เคลื่อนที่ รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก และชุดจิตอาสาพระราชทาน ให้บริการทางการแพทย์เบื้องต้น ฟื้นฟูสภาพจิตใจให้คลายกังวล ลจดความตึงเครียด ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ณ...
Read More
0 replies on “บริติช เคานซิล ผลักดัน Tiktoker สายวิทย์คนดัง ที่มีคนติดตามกว่า 2 ล้านคน สู่ตัวแทนชาวไทย คว้ารางวัลบนเวที ‘เฟมแล็บ อินเตอร์เนชันแนล 2021’”