นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินระบบบริการบัญชีเงินฝากผู้ต้องขังผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ (E-Payment) ว่า หลังจากที่ตนได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์เร่งดำเนินการ
ล่าสุดตนได้รับรายงานว่ามีเรือนจำทั่วประเทศดำเนินการไปแล้ว 70 แห่ง มีระบบของตัวเองก่อนแล้ว 10 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้ง 15 แห่ง ยังไม่มีระบบของกรมราชทัณฑ์ 10 แห่ง และอยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากดอกเบี้ยเงินกลางของกรมบังคับคดีและงบประมาณปี 2566 จำนวน 37 แห่ง
โดยตนได้เร่งให้ทำให้ครบทุกแห่ง องค์ประกอบของระบบจะเชื่อมต่อกับธนาคารกรุงไทย และระบบของร้านค้าสงเคราะห์กรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะมีช่องทางการฝากเงินคือ เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย และแอพพลิเคชั่นของธนาคาร โดยหากฝากไม่เกิน 1,000 บาท จะไม่เสียค่าธรรมเนียม หากฝากเกิน 1,000 บาท จะเสียค่าธรรมเนียม 10 บาท
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า บุคคลที่สามารถลงทะเบียนจัดทำบัตรฝากเงินได้ คือ 1. บิดา มารดา ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุตรหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับบุคคลที่ผู้ต้องขังได้ระบุให้เป็นผู้มีสิทธิในการเข้าเยี่ยม 2. ตัวแทนจากหน่วยงานราชการ เช่น สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล
โดยหลักฐานในการจัดทำบัตรฝากเงิน ประกอบด้วย บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง กรณีผู้ต้องขังต่างชาติ สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารหรือสมุดบัญชีธนาคารเล่มจริงที่ยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ปกติ และกรณีผู้ต้องขังต่างชาติ ไม่มีญาติเป็นคนไทย ขอเอกสารหนังสือมอบหมายจากสถานทูต สถานกงสุลของผู้ต้องขังเพิ่มเติม
“การพัฒนาระบบการฝากเงินออนไลน์ให้แก่ญาติของผู้ต้องขัง เพื่อให้พวกเขาสามารถซื้อของใช้ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกตามสิทธิมนุษยชน และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น วิกฤตโควิด ที่ผ่านมาทำให้เราต้องปิดเรือนจำงดการเยี่ยมญาติ ดังนั้นเราต้องหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อรับมือและใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” นายสมศักดิ์ ระบุ