จาก “แบงก์ชาติ” ถึง “รัฐบาล” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ขณะนี้…..
เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า เศรษฐกิจประเทศไทย
“ไม่ได้วิกฤติ”
แต่รัฐบาล “เศรษฐา-เพื่อไทย” กำลังทำให้ประเทศวิกฤติ โดยจะเอาเงิน “งบประมาณแผ่นดิน” และ “ลักหลับ” เงินฝากประชาชนใน “ธนาคารธกส.”
รวม ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ไปแปลงเป็น “โทเคน”

เพื่อแจกคนอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป ๕๐ ล้านคน ผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ตาม “สัญญาว่าจะให้” ของเพื่อไทย ตอนหาเสียง

เมื่อรัฐบาล “จะเอาให้ได้” ก่อนประชุมครม.เมื่ออังคารที่ ๒๓ เมย.ที่ผ่านมา ๑ วัน

“นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ”
“ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท่านร้อนใจ เมื่อเห็นหายนะจากไฟ “ผลาญประเทศ” คืบคลาน จึงทำหนังสือถึง “สำนักเลขาธิการครม.”

เป็น “ความเห็น-ข้อสังเกต-ข้อห่วงใย” ให้ครม.ใช้ประกอบการพิจารณาในที่ประชุม
แต่ครม. “รับฟัง-ตระหนักรู้” แค่ไหน ดูจากที่นายกฯ “อ่านแถลง” หลังประชุม เมื่อวานซืน ก็จะรู้

หนังสือฉบับนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” นำเผยแพร่เป็นข่าวเมื่อวาน
ตราสัญลักษณ์ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เคยเห็นกันใช่มั้ย เป็นรูป “พระสยามเทวาธิราช” พระหัตถ์ขวากำถุงเงิน หมายถึงผู้คุม “ถุงเงินของชาติ”

“พระแสงธารพระกร” ในพระหัตถ์ซ้าย หมายถึงหน้าที่หลักของ “แบงก์ชาติ”
ผู้ว่าฯ “เศรษฐพุฒิ” รวมถึงคนแบงก์ชาติ กำลังทำหน้าที่ตามสัญลักษณ์นั้น “สุดเหนี่ยว-เต็มล้า”

ผมจะ “เก็บความ” ในหนังสือ ๕ หน้า ซึ่งจะเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่อไป มาบันทึกไว้ตรงนี้
ว่า “แบงก์ชาติ” ได้ยืนหยัดทำหน้าที่….

มิติ “พระสยามเทวาธิราช” พระหัตถ์ขวา “กุมถุงเงิน” และพระหัตถ์ซ้ายกระชับ “พระแสงธารพระกร” พิทักษ์ ได้โดยมิหวั่นหน้าไหน เช่นไร
………………………….

“ความเห็น-ข้อสังเกต-ความห่วงใย-ข้อเสนอ” จากผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ถึงครม. “เศรษฐา-เพื่อไทย” เมื่อ ๒๒ เมย.๖๗

“ผู้ว่าฯธปท.-เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” มีข้อเสนอว่า

ควรทำโครงการครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อแบ่งเบาค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิผล คุ้มค่าและใช้งบประมาณลดลง

โดยเฉพาะ “กลุ่มเปราะบาง” เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ๑๕ ล้านคน
ทำได้ทันที ใช้งบ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท

เพราะคนกลุ่มนี้ มีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น มักซื้อสินค้าผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า

-ควรพิจารณาดำเนินโครงการแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อ “เสถียรภาพการคลัง” ด้วย

ความจำเป็นกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง มีไม่มาก โดยในปี ๖๖ การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวได้ที่ร้อยละ ๗.๑ เทียบค่าเฉลี่ยช่วงปี ๕๓-๖๕ ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ ๓ ต่อปี

แจก ๑ หมื่น ก่อภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว หากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal (Rating ไทยปัจจุบัน)ไว้ “ไม่ควรเกินร้อยละ ๑๑”

โครงการแจกนี้ จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี ๖๘

หากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ “ต้นทุนการกู้ยืม” ภาครัฐและภาคเอกชน ปรับเพิ่มขึ้น
อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม

-โครงการนี้ ใช้งบประมาณสูง ทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง

-เสี่ยงจะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับภาวะฉุกเฉิน เพาะเพิ่มวงเงินกู้ ปี งบ ๖๘ ไปเกือบเต็มกรอบกฎหมายกำหนดแล้ว
ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว ๕ พันล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อน ๆ ที่มากกว่า ๑ แสนล้านบาท

-การนำเงินจากงบปี ๖๗ ไปแจก ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีจำเป็นลดลง อาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน
โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ “การเมืองโลก” ที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น

-ควรพิจารณาถึงความคุ้มค่า ด้วยการนำงบ ๕ แสนล้าน ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหา “เชิงโครงสร้าง”
และยกระดับ “ศักยภาพทางเศรษฐกิจ” ประเทศระยะยาว

ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่

-โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้วงเงินเฉลี่ย ๓.๘ ล้านบาท/ตำแหน่ง) จะสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า ๑๓๐,๐๐๐ ตำแหน่ง

-โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (๘๓,๐๐๐ ล้านบาท/ปี) จะสนับสนุนได้นานถึง ๖ ปี

-โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร (๔๐,๐๐๐ล้านบาท/สาย) จะพัฒนาได้กว่า ๑๐ สาย

-โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (๑๙๐,๐๐๐ ล้านบาท/สาย) จะพัฒนาได้กว่า ๒ สาย

แหล่งเงินโครงการแจก ๕ แสน มีที่มาจากงบรายจ่ายต่างปี, ต่างประเภท

และอีกส่วนหนึ่ง มาจากการให้หน่วยงานของรัฐจ่ายไปก่อน รัฐบาลจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ทีหลัง
ตามมาตรา ๒๘ พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ การใช้เงินงบจากแหล่งต่าง ๆ
ต้องสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

-สิทธิการใช้จ่ายภายใต้โครงการแจก ๑ หมื่น จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา

โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน มีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ

หากรัฐบาลยังไม่สามารถ earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการด้วยเหตุใดๆ

เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ ตามเงื่อนไขของกฎหมายหรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ
จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับ
เป็นการ “สร้างวัตถุ” หรือ “เครื่องหมาย” แทนเงินตรา
ผิดตามมาตรา ๙ พรบ.เงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑

-การให้ ธ.ก.ส.ร่วมสนับสนุนแจก ๑ หมื่น ควรมีความชัดเจนทางกฎหมาย ว่าการดำเนินการนั้น อยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ
และอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา ๙,๑๐ พรบ.ธนาคารธกส.ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

-การ “เติมเงิน” ให้เกษตรกร “ต้องแยกส่วน” จากการ “เติมเงิน” ให้ “ประชาชน” ทั่วไป ให้ชัดเจน
ทั้งต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการ “ใช้งบประมาณผิดประเภท”
เพื่อให้เป็นไปด้วยความถูกต้องและรอบคอบ

เสนอให้ครม.มอบหมายให้ “กระทรวงคลัง” หารือ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ก่อน
ดังที่เคยหารือเช่นกรณี “ธนาคารออมสิน” ตามมาตรา๗ พรบ.ธนาคารออมสิน ซึ่งทำมาแล้ว

ธปท.มีข้อกังวล ว่า….
การที่รัฐบาลจะใช้เงินธกส.ขณะนี้ รัฐบาลยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส.กว่า ๘ แสนล้านบาท
อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อย่างมีนัยสำคัญ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน

จึงควรมีแนวทางชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้แก่ ธ.ก.ส.พร้อมทั้งรับฟังความเห็นบอร์ด ธ.ก.ส.ก่อน

ผู้พัฒนาและดำเนินการระบบจิทัลวอลเล็ต ๑ หมื่น มีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก
จึงต้องเป็นระบบมีประสิทธิภาพ เสถียร มั่นคง ปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ

ธปท.มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ ดังนี้

-ควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่

-เงื่อนไขการใช้สิทธิ ซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งระบบจะมีลักษณะเป็นระบบเปิด ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลาย
จึงควรต้องกำหนดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน และการทดสอบที่รัดกุมครบถ้วน
เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ อันจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ

-ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงาน และข้อมูลความต่อเนื่องการให้บริการ การจัดการ การเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด รวมทั้งมีกระบวนการพิสูจน์,ยืนยันตัวตนของประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐาน ตามระดับความเสี่ยงของภาคการเงินด้วย

-ผู้พัฒนาระบบ ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เป็น Open-loop
เพื่อให้ระบบสอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้นและดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่จำกัด

จากตัวอย่างที่ผ่านมา แบงก์พาณิชย์ ต้องใช้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินจำนวนมาก และใช้เวลาพัฒนาต่อเนื่อง มากกว่า ๑ ปี

-ต้องดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก
สามารถดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้รวดเร็ว เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนติดขัด

หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขโครงการ -ในกรณี มีการโจมตีทางไซเบอร์ หรือมีการรั่วไหลของข้อมูลธุรกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที
การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต

หน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรกำหนดกลไกในขั้นตอนต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม

-โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการ ให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด

-การป้องกันลงทะเบียนเป็น “ร้านค้าปลอม” การกำหนดประเภท/ขนาดร้านค้า,ประเภทสินค้าต้องห้ามและฯลฯ -การตรวจสอบว่ามีการซื้อขายสินค้าจริงและป้องกันไม่ให้มีการขายลดสิทธิ์

ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตข้างต้น ธปท.จึงมีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและรายละเอียดต่างๆ ของโครงการแจก ๕ แสนล้าน

เป็นโครงการมีรายละเอียด การดำเนินการซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระการคลังของประเทศในระยะยาว

มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ควรรอบคอบระมัดระวัง มีกระบวนการที่ถูกต้องรัดกุม

จึงเสนอให้ครม.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม

พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่างๆให้เป็นรูปธรรมด้วย

ก่อนที่ครม.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อไป
………….
“แบงก์ชาติ” อย่าลด “พระแสงธารพระกร” ในมือลงเป็นขาดเชียวนะ…ท่าน!

เปลว สีเงิน
๒๕ เมษายน ๒๕๖๗

Written By
More from plew
ยะลาที่ “อนาคตจะเปลี่ยน”
เปลว สีเงิน ตอนปลายปี…. นายกเทศบาลนครยะลา ที่เป็นสัญลักษณ์เมืองยะลาไปแล้ว “คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” มาสวัสดีปีใหม่ ความจริง ท่านมาทุกปี “ไม่เคยขาด”
Read More
0 replies on “จาก “แบงก์ชาติ” ถึง “รัฐบาล” – เปลว สีเงิน”