ผักกาดหอม
นี่แหละ…ยี่เกการเมือง
ภาพที่ปรากฏ ดูเหมือนพรรคก้าวไกล กับคณะก้าวหน้า มีท่าทีต่อ ม.๑๑๒ แตกต่างกันพอควร
พรรคก้าวไกล “แก้ไข”
คณะก้าวหน้า “ยกเลิก”
แต่…หน้าฉากที่เห็นแค่แท็กติกทางการเมืองเท่านั้น
เพราะความจริงทัศนคติเดียวกัน ที่ต่างมีแค่เล็กน้อย
เห็น “ปิยบุตร แสงกนกกุล” โวยวายพรรคก้าวไกล ก็อย่าไปเชื่อตามนั้นเด็ดขาด
รากเหง้าเดียวกันเดียว มันคิดเหมือนกัน
วันก่อนแถลงการณ์พรรคก้าวไกล พูดถึงร่างกฎหมาย ๕ ฉบับ ที่เคยยื่นสภาไปแล้ว
๑.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) เป็นการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการเอาผิดต่ออาชญากรรมในระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เป็นการนำกฎหมายไปใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์
๒.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. …
๓.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งทั้ง ๒ ฉบับนี้ เพื่อสร้างกลไกคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้อง คดีปิดปาก โดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ในกรณีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะต่างๆ หรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและเอกชน ซึ่งในต่างประเทศเรียกกันว่า anti-SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) laws
๔.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. … มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มบทลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่บิดเบือนกฎหมาย ทำให้สามารถเอาผิดเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่กระทำการบิดเบือนกฎหมายต่อประชาชนได้
และ ๕.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับฐานความผิดหมิ่นประมาททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล รวมทั้งความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงออก ให้ได้สัดส่วนกับการเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงของประมุขของรัฐ และบุคคลอื่น ให้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่
๔ ฉบับแรกถูกนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนฉบับสุดท้าย มีการแก้ไข ม.๑๑๒ ถูกโต้แย้งโดยสำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ ว่ามีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.๖ ที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ทีนี้ไปดู สาระสำคัญในร่างกฎหมายที่มีการแก้ไข ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล
อ้างว่า เป็นการย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่
คือ ลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ในส่วนที่มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ที่ระบุว่า “ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด”
และ “ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”
ในแง่หลักการกฎหมายแม้จะพอฟังได้ แต่ยังต้องถกเถียงกันอีกมากว่า การแก้ไขลักษณะนี้เป็นการธำรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ จริงหรือไม่
หรือเพื่อเจตนาแอบแฝงอื่นที่ซ่อนอยู่
ครับ… เจตนาที่แท้จริงของพรรคก้าวไกล อยู่ที่การแถลงข่าวของ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค
“…การจะธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ให้คงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถจะบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดบังคับ หรือใช้กฎหมายปราบปรามการแสดงออกของประชาชน
แต่สถาบันการเมืองใดๆ ในสังคมสมัยใหม่ย่อมดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความชอบธรรมและความยินยอมพร้อมใจจากประชาชน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเรียกร้องให้ยกเลิก ม.๑๑๒ ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจต้องคืนสิทธิในการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องหาคดี ม.๑๑๒ รวมถึงคดีความมั่นคงอื่นๆ และใช้กลไกทางการเมืองในการยุติคดีการเมืองต่างๆ
ไม่ควรมีใครต้องอยู่ในคุกเพราะการแสดงออกทางการเมือง ในที่สุดหากต้องนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมก็จำเป็นต้องทำ…”
ฉะนั้นความต้องการที่แท้จริงของพรรคก้าวไกลจึงอยู่ที่การยกเลิก ม.๑๑๒ ไม่ใช่การแก้ไข
ยกเลิกเพราะอะไรมันมีเป้าหมายครับ
หากพิจารณาจากเหตุไปหาผล ก็จะพบความจริงที่ว่า การฟ้องร้องด้วย ม.๑๑๒ มากเป็นพิเศษในช่วงนี้ เพราะมีการกล่าวร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์รุนแรงเป็นประวัติการณ์
เดิมทีโจมตีเฉพาะรัชกาลปัจจุบัน
มาวันนี้ บิดเบือนให้ร้ายไปถึง รัชกาลที่ ๙ เรื่อยไปจนถึงรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงเป็น “มหาราช”
เด็กเมื่อวานซืนในโซเชียลไล่งับแต่เฟกนิวส์ ก็ไม่แปลกครับถึงได้เชื่้อกันเป็นตุเป็นตะ จะล้มล้างสถาบันฯ กันให้ได้
ไปดู “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็ประสานเป็นเสียงเดียวกัน
“คณะก้าวหน้าพร้อมที่จะรณรงค์ในการผลักดันเรื่องการยกเลิก ม.๑๑๒ ร่วมกับพี่น้องประชาชน โดยเราจะร่วมลงแรงเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม และการจัดการหลังบ้านในการลงชื่อออนไลน์ของประชาชน “
“ปิยบุตร” ทำทีเป็นฟาดงวงฟาดงา
“พรรคต้องเป็น avant-garde ถ้าพรรคไม่เป็นแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะลาออกจากอาจารย์ ทิ้งชีวิตวิชาการมาทำไม คำว่า avant-garde ไม่เท่ากับต้องตามใจเอาใจการชุมนุม แต่คือการชี้นำสังคม ผลักวาระนำหน้าเพื่อให้สังคมตาม เลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไม่มีพรรคแบบนี้ คงกาไม่เลือกใคร”
“ส.ส.บางคนถามผมว่าจะเสนอร่างกฎหมาย ๑๑๒ แบบใด ผมยืนยันเรื่องยกเลิก ๑๑๒ พร้อมยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ผมอธิบายเหตุผลยืดยาว แต่เมื่อพรรค ก.ก.เสนอแบบนั้นก็จบ ผมไม่เกี่ยวด้วย แต่ผมขอใช้เสรีภาพแสดงจุดยืนของผม เท่านี้ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าผมไม่เกี่ยวกับ ก.ก. สั่งการ ก.ก.ไม่ได้”
เหมือนจะเป็นการปรับทิศให้ตรง มุ่งไปสู่การยกเลิก ม.๑๑๒ เท่านั้น
และก็ได้ผล “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงท่าทีล่าสุดของพรรคก้าวไกล
“จากการเสนอแก้ไขเมื่อ 9 เดือนก่อน วันนี้พรรคก้าวไกลต้องกลับมาทบทวนแล้วว่า มันตอบรับกับสถานการณ์หรือไม่ แต่เราต้องคิดถึงการโอบรับคนอื่นด้วย เพราะขนาดแค่การแก้ไขยังไม่มีพรรคการเมืองใดลงชื่อร่วมกันกับเราเลย เราก็ต้องคิดถึงมือในสภาด้วย เพราะถ้ามือในสภายกผ่านจึงจะเกิดการแก้ไข ดังนั้น ความพยายาม หรือการผลักดันจากภาคประชาชนที่จะให้มีการยกเลิกมาตรา ๑๑๒ พรรคก้าวไกลก็รับฟัง”
ครับ…เมื่อไล่ลำดับเหตุการณ์ การชี้นำทิศทางโดย “ธนาธร-ปิยบุตร” ก็มาจบลงที่ ยกเลิก ม.๑๑๒
ข้ออ้างในการยกเลิก ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประชาชนที่นำมาอ้างคือม็อบสามนิ้ว
ท่าทีม็อบสามนิ้วที่ผ่านมามีความชัดเจนค่อนข้างมาก คือ ไม่ต้องการให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการการปกครองระบอบสาธารณรัฐ
ให้นักการเมืองเป็นประมุขของประเทศ
พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ไม่เคยฟังเสียงประชาชนอีกฝ่าย
แม้จะเคยถูกสั่งสอนจากการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อปลายปี ๒๕๖๓ แต่ “ธนาธร-ปิยบุตร” ยังคงเดินหน้าไม่ฟังเสียงใคร
ดวงตาของม้าจะอยู่ด้านข้างข้องใบหน้า จึงมองได้กว้างถึง ๓๕๗ องศา
ม้าแข่งจะเห็นม้าตัวข้างๆ ที่วิ่งไปพร้อมกัน
และยังเห็นม้าตัวหลังที่กำลังแซงขึ้นหน้ามาอีกด้วย โดยไม่ต้องหันหัวกลับไปมองด้วยซ้ำ
แต่ม้าขี้ขลาดครับ มันจะรู้สึกกลัวหากเห็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย
ฉะนั้นเวลาม้าลงแข่ง จะถูกครอบตาให้มองเห็นเฉพาะข้างหน้าเท่านั้น
บางตัวไวต่อเสียงเชียร์ ก็ต้องหาอะไรมาอุดหู
ไม่ต่างกับสิ่งที่ “ธนาธร-ปิยบุตร” กำลังทำอยู่ในขณะนี้
การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมบนโลกใบนี้ เป็นระบอบการปกครองปกติที่หลายประเทศใช้กัน
ฉะนั้นการที่ “ธนาธร-ปิยบุตร” พยายามจะจุดกระแส นำไปสู่การเปลี่ยนโดยหวังว่าต่างชาติจะหันมาให้ความสนใจ และให้การสนับสนุน ก็ควรกลับไปคิดใหม่
คนในชาติไม่ได้มีเฉพาะสามกีบ