นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมเรื่อง การติดตามการดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ในวันที่ 8 กันยายน 2564 เวลา เวลา 13.30 น. ด้วย Application “Zoom”
โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมต่อเนื่องจากวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เพื่อดำเนินการติดตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เร่งรัดโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน
โดยเฉพาะการดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถานีที่มีคุณค่าและความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย โดยโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยส่งเสริม การพัฒนาและกระจายความเจริญ รวมถึงการสร้างโอกาสอันดีแก่ประชาชนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติสามารถมาเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
โดยกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ทั้งในด้านภูมิทัศน์และคุณค่าความโดดเด่นของมรดกโลก (OUV) โดยการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยรถไฟความเร็วสูงควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณค่าอันโดดเด่นให้เหมาะสมกับบริบทของจังหวัด
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้ ให้กรมการขนส่งทางราง และการรถไฟแห่งประเทศไทยหารือแนวทางเลือกการดำเนินโครงการ โดยตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ได้ข้อยุติ ในการประชุมครั้งถัดไปให้นำเสนอเป็นภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) เช่น การดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยา การก่อสร้างงานโยธาร่วมช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง เป็นต้น รวมถึง การดำเนินโครงการระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย) และ การเชื่อมโยงทางรถไฟกับโครงการรถไฟ ลาว-จีน ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ต่อไป