เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เวลา 12.30 ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศบค. ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน ต่อกรณีการจัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มอีก 12 ล้านโดส ว่า
กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอในที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก และ ศบค. ชุดใหญ่ และได้เห็นชอบและอนุมัติการจัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มอีก 12 ล้านโดส โดยเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาวิจัยในพื้นที่และโรงเรียนเรียนแพทย์ที่หลากหลาย
โดยจากรายงานการศึกษาการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็มและมีการติดเชื้อภายใน 14 วันหลังจากการได้รับวัคซีน วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 72 เปอร์เซ็นต์และสามารถป้องกันการเสียชีวิตและอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 98 เปอร์เซ็นต์
โดยเมื่อนำมาเทียบกับผลการศึกษาเมื่อบุคลากรติดเชื้อภายหลังจากได้รับ AstraZeneca 1 เข็ม พบว่า มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 88 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำมาเทียบกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนแบบผสมระหว่าง Sinovac และ AstraZeneca มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ การเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต พบว่า มีประสิทธิผลสูงขึ้น
ดังนั้น จากผลการศึกษาดังกล่าว ทำให้ ศบค. เห็นชอบให้ดำเนินการจัดหา Sinovac เพิ่มเติมอีก 12 ล้านโดส นอกจากนี้ อีกเหตุผลก็คือ จากเดิมวางแผนที่จะให้มีการฉีดระดมฉีดวัคซีนทั่วประเทศให้ได้ 100 ล้านโดส โดยแผนเดิมที่วางไว้จะมีการเติมวัคซีนเข้ามาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ Johnson & Johnson และ AstraZeneca คาดว่าจะให้รวมๆ กันอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านโดส
แต่จากที่ทางสาธารณสุขรายงานไปก่อนหน้านี้ว่า Johnson & Johnson ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้ได้ในไตรมาส 4 ตามที่ตกลงกันไว้ จึงทำให้ต้องปรับแผน ประกอบกับ AstraZeneca ที่กำลังผลิตการจัดสรรที่คาดการณ์ว่าจะได้ 10 ล้านโดส อาจจะลดลงมาอยู่ที่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทำให้มีความสมเหตุสมผลในการที่จะจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนอื่นก็คือ Sinovac เข้ามาเสริมในส่วนที่ขาดหายไป
รวมทั้ง จากการศึกษาของโรงเรียนแพทย์ทั้งจุฬาฯ รามาฯ และศิริราช ที่มีการระดมฉีดเป็นลักษณะฉีดไขว้ก็คือ Sinovac 1 เข็ม ตามด้วย AstraZeneca ห่างกัน 3 สัปดาห์ แทนที่จะรอให้ฉีด AstraZeneca 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ พบว่าช่วยให้ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ และลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ รวมทั้งจะทำให้การระดมฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรจำนวนมากได้เป็นไปตามแผนการกระจายวัคซีนด้วย