กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยการให้วัคซีนโควิด 19 แบบสลับชนิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสามารถต้านเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ที่ส่วนใหญ่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ และมีแนวโน้มจะระบาดไปทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 จากรายงานทางระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่อง โรคโควิด 19 ฉบับที่ 48 ประจำวันที่ 13 กรกฏาคม 2564 ในช่วงวันที่ 5-11 กรกฎาคม 2564 พบจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด 19 ทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 10% และพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3% นั้น
จากรายงานดังกล่าว พบว่ามีรายงานการแพร่กระจายเชื้อสายพันธุ์ก่อเรื่อง (Variant of concern) ดังนี้
สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 178 ประเทศ สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 123 ประเทศ สายพันธุ์แกมมา (บราซิล) จำนวน 75 ประเทศ และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 111 ประเทศ
ซึ่งในประเทศไทยพบ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา 74.08% เบตา 1.78% และเดลตา 70-80% โดยสายพันธุ์เดลตาจะพบมากขึ้นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ ศรีลังกา เวียดนาม แต่ยังไม่มีรายงานพบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศเมียนมาร์
ในประเทศไทย พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในหลายพื้นที่ และพบผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 1 หมื่นราย (เฉลี่ย 9,141 รายต่อวัน) และพบผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย (เฉลี่ย 82 รายต่อวัน) ซึ่งเป็นการติดเชื้อและเสียชีวิตที่สูงในขณะนี้
จึงขอความร่วมมือจากประชาชนปฏิบัติตามมาตรการทางสังคม มาตรการทางกฎหมาย มาตรการส่วนบุคคล และการฉีดวัคซีน เพื่อเร่งการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จากการสุ่มตรวจเพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย
โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบสายพันธุ์อัลฟาและเดลตาเป็นส่วนใหญ่ โดยสายพันธุ์เดลตา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ สายพันธุ์อัลฟามีแนวโน้มลดลง จากข้อมูลการเฝ้าระวังในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-9 ก.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา 57.1% สายพันธุ์อัลฟา 42.9% ส่วนสายพันธุ์เบตายังไม่พบผู้ติดเชื้อ
เนื่องจากปัญหาไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ที่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ และมีแนวโน้มจะระบาดไปทั่วประเทศ แพร่กระจายได้รวดเร็ว ทำให้มีผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก และมีผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องใช้เตียงไอซียู ในส่วนของผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 จึงมีความสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ จากการเก็บข้อมูลและทบทวนการศึกษาวิจัยจากหลายๆรายงาน พบว่าการฉีดวัคซีนสลับชนิด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสามารถต้านไวรัสกลายพันธุ์ได้ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา มีมติ คือ
1.เตรียมปรับวิธีการฉีดโดยให้วัคซีนสลับชนิดกัน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมากขึ้นและเร็วขึ้น
2.การให้วัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทั้งนี้ ขอให้เร่งฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้งป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ของโรค
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการทางสังคม มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการส่วนบุคคล โดยการสวมหน้ากากอนามัย งดการคลุกคลีใกล้ชิด และไม่รับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ตามแนวทางและมาตรการที่ ศบค. กำหนด
โดยกรมควบคุมโรค ได้ยกระดับการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการระบาดเชิงรุกอย่างเข้มข้น และเร่งการฉีดวัคซีนตามแผนกระจายวัคซีนอย่างต่อเนื่อง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422