เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “รัฐสวัสดิการอยู่อย่างไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่“
นายณัฐชาได้เริ่มต้นอภิปรายโดยการกล่าวถึงความหมายของรัฐสวัสดิการผ่านประสบการณ์ตรง ที่มีแม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ภายหลังพ่อเสียชีวิต เผชิญกับความยากจนและการต้องหาเลี้ยงครอบครัวเพียงลำพังของแม่ ในขณะที่สังคมไทยไม่มีสวัสดิการอะไร ส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวทั้ง 3 คนต้องอาศัยอยู่ในห้องพักขนาดเล็ก ใช้ห้องน้ำรวมร่วมกับผู้อาศัยอื่นอย่างแออัด เป็นคุณภาพชีวิตของครอบครัวที่ไม่ได้ดีอะไร แต่สิ่งเหล่านี้ยังต้องแลกมาด้วยการที่แม่ต้องทำงานหลายงานติดต่อกันจนไม่มีเวลานอน พี่สาวต้องหยุดเรียนกลางคันเพราะแม่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะส่งเสียให้ลูกสองคนได้เรียนหนังสือพร้อมกันได้
“คำว่ารัฐธรรมนูญ และคำว่ารัฐสวัสดิการ ทั้ง 2 คำมีคำว่ารัฐอยู่ในนั้น คำหนึ่งสื่อถึง ธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดของรัฐ อีกคำหนึ่งสื่อถึงสวัสดิการที่อยู่ในรัฐ ผมเองก็เป็นประชาชนเหมือนกับเพื่อนร่วมชาติอีกหลายล้านคนที่ต้องอาศัยอยู่ในรัฐ ที่มีธรรมนูญแต่ไม่ได้มีสวัสดิการอยู่ในนั้น รวมทั้งในความเป็นจริงเราแทบไม่มีสวัสดิการอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้นสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่หลายๆ คนพอเข้าใกล้อายุ 60 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือมักจะเกิดคำถามว่าเราจะอยู่อย่างไร จะอยู่ได้หรือไม่กับเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท
จึงย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่สังคมไทยส่งต่อความเชื่อกันมาอย่างยาวนาน ว่า ให้ตั้งใจเรียนหนังสือเพื่อไปสอบเข้ารับราชการ เพราะอาชีพข้าราชการเป็นเพียงอาชีพเดียวที่มีเงินบำนาญ มีรายได้ตลอดชีวิต คำถามที่เกิดขึ้นคือทำไมประเทศนี้อาชีพเพียงแค่ข้าราชการเท่านั้นที่มีรายได้ตลอดชีวิต ทำไมประชาชนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ถึงไม่มีบำนาญที่เพียงพอในการเลี้ยงชีพตลอดชีวิตบ้าง ทั้งที่ทุกอาชีพล้วนมีความสำคัญและมีส่วนสร้างประเทศแห่งนี้ในมิติต่างๆ ด้วยกันทั้งสิ้น”
นายณัฐชากล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่าสิ่งสังคมไทยจำเป็นต้องทำทันทีคือทำให้ประชาชนทุกคนอยู่รอดไปด้วยกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิในการอยู่อาศัยในรัฐแห่งนี้อย่างมีศักดิ์ศรี ต้องไม่มีใครลำบากเมื่ออายุมากขึ้นในวัยเกษียณ ต้องไม่มีควรต้องหยุดเรียนกลางคันเพียงเพราะเขาเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน เพื่อยืนยันหลักการเหล่านี้และทำให้เกิดขึ้นจริงจึงจำเป็นต้องกำหนดให้ธรรมนูญของรัฐมีสวัสดิการอยู่ในนั้น
นายณัฐชายังกล่าวด้วยว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจะกำหนดอะไรลงไปในกฎหมายสูงสุดของประเทศ แม้แต่การกำหนดให้มีรัฐสวัสดิการไว้ในรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องมีการทำงานทางความคิดแลกเปลี่ยนในวงที่กว้างขึ้น รวมถึงต้องขยายแนวร่วมให้มากขึ้นด้วย ทำให้คนในสังคมเข้าใจเรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้นจำเป็นต้องให้ความรู้กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันด้วยเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการมีสวัสดิการให้กับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง เพียงพอและเท่าเทียม ไม่ใช่การที่ประชาชนต้องพิสูจน์ความจน ต้องทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อให้ได้รับสิทธิและการสงเคราะห์จากรัฐแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน