ภาวะเด็กเตี้ย ปัญหากังวลใจของพ่อแม่ที่แก้ได้

ปฎิเสธไม่ได้ว่าผู้ปกครองหลายท่านมักจะกังวลในเรื่องความสูงของบุตรหลานว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ในทางทฤษฎีมีหลายองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความสูงของเด็ก ซึ่งปัจจัยด้านการได้รับสารอาหารก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเด็กอย่างมีนัยสำคัญ

พญ.สุทธิกานต์ สันติวัฒนา กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม กล่าวว่า เด็กแต่ละช่วงวัยมีอัตราการเพิ่มความสูงต่อปีแตกต่างกัน โดยวัยแรกเกิดถึง 1 ปีจะมีความสูงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในชีวิตคือ 18-25 เซนติเมตรต่อปี, วัย 1-2 ปีจะมีความสูงเพิ่มขึ้น 10-12 เซนติเมตรต่อปี, วัย 2-4 ปีจะมีความสูงเพิ่มขึ้น 6-7 เซนติเมตรต่อปี, วัย 4 ปีจนถึงก่อนเข้าสู่วัยหนุ่มสาวจะมีความสูงเพิ่มขึ้น 4-6 เซนติเมตรต่อปี, และช่วงวัยหนุ่มสาวจะกลับมาเป็นช่วงที่สูงเร็วอีกครั้ง กล่าวคือในผู้หญิง 7-10 เซนติเมตรต่อปี และในผู้ชาย 8-12 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งช่วงนี้มีระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มความสูงก็จะลดลงอย่างรวดเร็วจนหยุดไป

การได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตในวัยเด็ก ซึ่งเด็กทุกคนควรบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ การดื่มนมก็จำเป็นเนื่องจากนมเป็นแหล่งสำคัญของแคลเซียมและโปรตีน แต่การดื่มนมแทนน้ำเพื่อต้องการให้ได้แคลเซียมและโปรตีนปริมาณมากๆ ไม่ได้ทำให้เด็กสูงเร็วกว่าปกติ โดยในเด็กวัย 1-3 ปี มีความต้องการแคลเซียม 700 มิลลิกรัมต่อวัน, วัย 4-8 ปี ต้องการ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน, และ 9 ปีขึ้นไป ต้องการ 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งนมวัว 1 แก้ว ปริมาณ 200 ซีซี จะมีแคลเซียม 220-240 มิลลิกรัม ดังนั้นปริมาณการดื่มนมที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 2-3 แก้วต่อวัน ร่วมกับการรับประทานอาหารที่หลากหลายเพื่อให้ได้รับแคลเซียมจากแหล่งอื่นๆ ด้วย เช่น เต้าหู้แข็ง งา กุ้งแห้ง เป็นต้น

“ส่วนเด็กที่แพ้นมวัว คุณพ่อคุณแม่อาจจำเป็นต้องเลือกใช้นมชนิดอื่นๆ ก็อย่าลืมสังเกตปริมาณแคลเซียมในนมที่เลือกให้ลูกๆ ทานด้วยนะคะ อย่างเช่นเต้าหู้ที่เป็นอาหารแคลเซียมสูง แต่น้ำเต้าหู้แทบจะไม่มีแคลเซียมเลย ส่วนนมถั่วเหลืองแบบกล่องที่ระบุว่าแคลเซียมสูง โดยทั่วไปมักมีการเติมแคลเซียมเพื่อให้มีปริมาณแคลเซียมที่ใกล้เคียงกับนมวัวค่ะ” พญ.สุทธิกานต์กล่าว

สำหรับผู้ปกครองที่มีความกังวลเรื่องความสูงของบุตรหลาน ต้องหมั่นสังเกตอัตราการเพิ่มความสูง โดยเปรียบเทียบความสูงห่างกันอย่างน้อย 4-6 เดือน ซึ่งหากพบว่ามีอัตราการเพิ่มความสูงน้อยกว่าปกติของช่วงอายุก็ควรพามาพบแพทย์ เพราะในรายที่รู้ช้าก็อาจแก้ไขได้ไม่ทันหรือม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

พญ.สุทธิกานต์ สันติวัฒนา

กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม

Written By
More from pp
‘หลิวเต๋อหัว’ กลับมาอย่างยิ่งใหญ่กับการกู้ระเบิดครั้งสำคัญ!
คอหนังฮ่องกงห้ามพลาด! ครั้งนี้ หลิวเต๋อหัว พระเอกตลอดกาลที่คุณรักจะพาคุณกระโจนเข้าสู่โลกของวายร้ายที่หมายล้างบางเกาะฮ่องกงให้สิ้นซากในบทบาทของหน่วยเก็บกู้ระเบิดมากฝีมือที่สกัดยับยั้งแผนร้ายครั้งนี้ในภาพยนตร์สุดมันส์ระห่ำเกาะ “คนคมถล่มนิวเคลียร์” (Shock Wave2)
Read More
0 replies on “ภาวะเด็กเตี้ย ปัญหากังวลใจของพ่อแม่ที่แก้ได้”