รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ ทำแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ รับมือวิกฤตโควิด-19

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษออกแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจรับมือวิกฤตโควิด-19 ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายอาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างราบรื่น ห้ามใช้มาตรการที่เป็นอุปสรรค ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อำนวยความสะดวกทางการค้า พร้อมจับมือเอกชนร่วมขับเคลื่อน ส่วนผลการหารือกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เห็นตรงกันต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และดันลงนามอาร์เซ็ปภายในปีนี้

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโควิด–19 ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิค-19 ในภูมิภาค หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัวถึง 3% โดยได้ออกแผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19

สำหรับแผนดังกล่าว เป็นแผนงานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมให้การเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็น ได้แก่ อาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยจะหลีกเลี่ยงการออกมาตรการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและอาจเป็นอุปสรรคทางการค้า จะร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้มาตรการด้านการค้าทันที และจะส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ทันสมัยในการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้อาเซียนพร้อมรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ติดตามการดำเนินการตามแผนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

“รัฐมนตรีเศรษฐกิจยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN–BAC) โดยภาคเอกชนได้เสนอแนวทางการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในระยะสั้น และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดใหญ่ในระยะยาว โดยที่ประชุมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อร่วมจัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับแผนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป”


นายสรรเสริญกล่าวว่า ส่วนผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) ที่ประชุมได้ร่วมกันออกถ้อยแถลงว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเน้น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.รักษาตลาดที่เปิดกว้างสำหรับการค้าและการลงทุน เพื่อเสริมสร้างการฟื้นตัวและความยั่งยืนของห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาค 2.แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการ 3.อำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจในภูมิภาคตามนโยบายของแต่ละประเทศโดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุข 4.สนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSME ในการใช้เทคโนโลยีและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ 5.ฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านเวที RCEP โดยผลักดันลงนามให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

“รัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มอบให้เจ้าหน้าที่ร่วมมือกันริเริ่มโครงการที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด–19 คลี่คลายลง เพื่อสร้างเสถียรภาพต่อการผลิตและห่วงโซ่การผลิตของสินค้าและบริการในภูมิภาค พร้อมเน้นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคในช่วงภาวะฉุกเฉิน การเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และย้ำถึงคำมั่นที่จะลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ในปีนี้”นายสรรเสริญกล่าว


Written By
More from pp
“อนุทิน” เผย “ภูมิใจไทย” เตรียมประชุมพรรค 25 มิ.ย. พิจารณาโหวตประธานสภาฯ ชูจุดแข็งเรื่องเอกภาพ
21 มิถุนายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัด นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความเคลื่อนไหวของพรรค หลัง กกต....
Read More
0 replies on “รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ ทำแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ รับมือวิกฤตโควิด-19”