“สุริยะ” ปล่อยรถคันแรกใช้ “สะพานทศมราชัน” สะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยากว้างที่สุดในประเทศไทย

“สุริยะ” ปล่อยรถคันแรกใช้ “สะพานทศมราชัน” สะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยากว้างที่สุดในประเทศไทย ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน แก้ปัญหาการจราจรถนนพระราม 2 และทางด่วน คาดลดความแออัดเหลือ 75,325 คันต่อวัน

29 มกราคม 2568  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงสะพานทศมราชัน (บางโคล่) – ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสุขสวัสดิ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชนจากภาคใต้สู่กรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย พร้อมทั้งลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณด่านดาวคะนอง

นายสุริยะ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดใช้งานสะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก สำหรับการเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งานสะพานทศมราชันจะเปิดครบทั้ง 8 ช่องจราจร โดยสะพานแห่งนี้จะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพฯ จากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก ช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของสะพานพระราม 9 ก่อนโครงการฯ จะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด ประชาชนสามารถเดินทางสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัชได้อีกเส้นทางหนึ่ง ทั้งนี้ คาดว่าการเปิดให้บริการทางพิเศษช่วง ดังกล่าว จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่บนถนนพระราม 9 ถึงบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ และบริเวณถนนพระราม 2 จากปริมาณความแออัด 100,470 คันต่อวัน ลดลงเหลือ 75,325 คันต่อวัน

สำหรับ “สะพานทศมราชัน” มีลักษณะเป็นสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความกว้างที่สุดของประเทศไทย สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูงและทันสมัยโดดเด่น แบบไม่มีเสาอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา สามารถรับแรงลมได้สูงถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการช่วงสะพานทศมราชัน (บางโคล่) – ด่านฯ สุขสวัสดิ์ โดยประชาชนสามารถเดินทางได้จากทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ ใช้ทางขึ้นที่ด่านฯ สุขสวัสดิ์ เพื่อใช้สะพานทศมราชัน แล้ววิ่งเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานครมุ่งหน้าบางนา – ดินแดง และทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ – ถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ส่วนทิศทางขาออกกรุงเทพฯ ใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ผ่านจุดเชื่อมต่อเข้ามาที่สะพานทศมราชัน บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลงของด่านฯ สุขสวัสดิ์ บริเวณถนนสุขสวัสดิ์และถนนประชาอุทิศ เพื่อไปถนนพระราม 2 โดยมีอัตราค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ 50 บาท​ รถ 6 – 10 ล้อ 75 บาท​​ และรถมากกว่า 10 ล้อ 110 บาท

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก มีระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความก้าวหน้า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 ภาพรวม 86.28% เร็วกว่าแผน 1.03% คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ พร้อมเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2568

“การเปิดใช้สะพานทศมราชันครั้งนี้จะช่วยเสริมความสมบูรณ์ให้กับโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

Written By
More from pp
เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ จัดกิจกรรมท่องเที่ยว และทัศนศึกษาภาคฤดูร้อน ปีที่ 13 มอบประสบการณ์อันล้ำค่า แก่เยาวชนกว่า 800 ชีวิต จากมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ
โรงแรมในเครือเคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ โดยคุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ ผู้ก่อตั้งเคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ ผู้บริหารบริษัท เกษมกิจ...
Read More
0 replies on ““สุริยะ” ปล่อยรถคันแรกใช้ “สะพานทศมราชัน” สะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยากว้างที่สุดในประเทศไทย”