‘ทอน-แม้ว’ ไม่ต่าง #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ใครโกหก…

ระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ธนาธร”

“ก้าวไกล-เพื่อไทย” ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกันเพราะเงื่อนไข ม.๑๑๒ อย่างที่ “ทักษิณ” พูดจริงหรือไม่

ไม่มี ม.๑๑๒ อยู่ใน MOU ร่วมรัฐบาลที่เซ็นร่วมกันและเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ ตามที่ “ธนาธร” อ้างจริงหรือเปล่า

ย้อนไปวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ แกนนำจาก ๘ พรรคการเมืองร่วมแถลงการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล

มีพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่

เป็นไปตามดีลลับฮ่องกง ไม่เอา ๒ ลุง

สถานการณ์ของพรรคก้าวไกลขณะนั้น เหมือนเด็กหนุ่มนมเพิ่งแตกพาน คึกเต็มที่เพราะชนะเลือกตั้งได้เก้าอี้สส.มากเป็นลำดับที่ ๑

ส่วนพรรคเพื่อไทย เหมือนหญิงสาวกินน้ำใต้ศอก หาความพึงพอใจกับสถานะเป็นพรรคลำดับที่ ๒ แทบไม่ได้เลย

MOU ในวันนั้น ไม่มีข้อไหนระบุถึงการแก้ไข ม.๑๑๒ เลย เป็นเรื่องจริงตามที่ “ธนาธร” กล่าวอ้าง

เนื้อหา 23 ข้อ และอีก 5 ประเด็นที่ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

เนื้อหา 23 ข้อ ประกอบด้วย

๑.ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

๒.ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับ ประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ

๓.ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

๔.เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารในยามศึกสงคราม

๕.ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

๖.ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของ ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต

๗.แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

๘.ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

๙.ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

๑๐.ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิ์ในการไม่เห็นด้วยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา

๑๑.ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

๑๒.ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

๑๓.จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

๑๔.สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

๑๕.แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน

๑๖.นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านบัญญัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

๑๗.ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

๑๘.แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

๑๙.ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตของเศรษฐกิจ

๒๐.ยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ

๒๑.ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

๒๒.สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

๒๓.ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียน ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบพหุภาคี และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

แต่…”พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กลับสงวนสิทธิ์แก้ ม.๑๑๒ ในนามพรรคก้าวไกล

มันก็เข้าทางพรรคเพื่อไทยไปโดยปริยาย

เงื่อนไขนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยที่เอาแต่นั่งร้องไห้ในโชคชะตาของตัวเอง เพราะแลนด์ไม่ยอมสไลด์ กลับเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ทันที

เพราะไม่มีทางที่การเสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรีจะผ่านด่าน สว.

ก็เหมือนซ่อนมีดไว้ข้างหลัง พรรคเพื่อไทยรีบดันก้น “พิธา” ให้ สว.เชือด ท่ามกลางกระแสข่าว “ดีลลับดูไบ” ที่ดูเป็นจริงเป็นจังขึ้น

ฉะนั้นระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ธนาธร” พูดความจริงเฉพาะส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์ และไม่พูดในสิ่งที่ทำให้เสียประโยชน์

โดยเฉพาะความจริงที่ว่า ทั้งคู่ต่างแทรกแซงครอบงำพรรคการเมืองในฐานะเจ้าของพรรคเหมือนกัน

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
ไปต่อเมืองจันท์ “พิธา” เปิดเวทีแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่ดิน ราคาผลไม้ เชื่อมัน 8 พรรคร่วมไม่ทำประชาชนผิดหวัง
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังคงเดินสายพบปะและขอบคุณประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง
Read More
0 replies on “‘ทอน-แม้ว’ ไม่ต่าง #ผักกาดหอม”