ผักกาดหอม
จะรอดหรือร่วง?
อ่านหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจำนวน ๓๒ หน้าที่ นายกฯ เศรษฐา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้วมีงานงอกเพียบ
นายกฯ เศรษฐาจ่ายงานให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ “พิชิต ชื่นบาน” ยันศาลรัฐธรรมนูญ ช่วยรับผิดชอบคดีถูกร้องถอดถอน เพราะตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาวกไปวนมาอยู่บ้าง แต่ก็สรุปสาระสำคัญได้ตามนี้ครับ
“…การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ กล่าวคือ ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอชื่อ ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการในระยะเวลาที่จำกัด และมีชั้นความลับในการดำเนินการ
เนื่องจากขั้นตอนดำเนินการตั้งแต่การเสนอชื่อ การตรวจสอบคุณสมบัติ และการนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จะต้องดำเนินการในระยะเวลาที่จำกัดและมีขั้นความลับในการดำเนินการ ดังนั้น ข้อมูลที่สำคัญที่สุดจึงต้องมาจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเอง
ด้วยเหตุนี้ กรณีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมาตรา ๑๖๐ (๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือแนวทางการตรวจสอบในกรณีดังกล่าวมาก่อน
รวมทั้งยังไม่มีแนวทางการพิจารณาว่า มาตรา ๑๖๐ (๔) และมาตรา ๑๖๐ (๕) เป็นกรณีที่จะต้องใช้ บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี หรือไม่ อย่างไร
ประกอบกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น เป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐…”
คำชี้แจงท่อนนี้ นายกฯ เศรษฐา จงใจบอกว่าการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
และคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่มีหลักเกณฑ์มาก่อน
ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นผู้วินิจฉัย
มันก็ถูกครับ แต่ไม่ทั้งหมด
เป็นเรื่องใหญ่ครับ เมื่อผู้นำประเทศ ไม่มีมาตรฐานความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์อยู่ในสมองเลย ก็เป็นเรื่องยากที่ฝ่ายการเมืองจะสร้างบรรทัดฐานนี้เองได้
แต่ก็เป็นเรื่องดีครับที่โยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ
ขออย่างเดียว เมื่อศาลวินิจฉัยออกมาแล้ว ปฏิบัติให้เป็นที่ประจักษ์ตามนั้นด้วย
ไปดูหนังสือชี้แจงต่อครับ
เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐนตรี มาติดต่อขอรับแบบแสดงประวัติและแบบแสดงคุณสมบัติ เพื่อไปดำเนินการกรอกและรับรองความถูกต้องของข้อมูล
กรณีของ “พิชิต ชื่นบาน” เป็นบุคคลที่พรรคเพื่อไทยไว้วางใจ จึงได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในคราวนี้ ได้ส่งคืนแบบแสดงประวัติและแบบแสดงคุณสมบัติที่กรอกและรับรองข้อมูลตนเองแล้วแก่สำนักเลขาธิการ
คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ โดยได้กรอกและรับรองข้อมูลแบบแสดงประวัติและแบบแสดงคุณสมบัติของตนเอง ไว้ดังนี้
ข้าพเจ้าขอรับรองว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
ข้าพเจ้าขอรับรองว่าไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ข้าพเจ้าขอรับรองว่าเคยได้รับโทษจำโดยได้พ้นโทษมาแล้วเกิน ๑๐ ปีนับถึงวันเลือกตั้ง พร้อมระบุหมายเหตุเพิ่มเติมด้วยว่า “โทษจำคุกที่ได้รับไม่ใช่คำพิพากษาในคดีอาญา แต่เป็นคำสั่งศาล จึงไม่เป็นลักษณะต้องห้ามตามตามมาตรา ๑๖๐ และมาตรา ๙๘ ของรัฐธรรรมนูญ”
จะเห็นว่า “พิชิต ชื่นบาน” พยายามจะสู้ว่าไม่ได้ติดคุกเพราะคำพิพากษาศาล แต่เพราะคำสั่งศาล
หนังสือชี้แจงจึงอธิบายต่อเพื่อเชื่อมโยงว่ามีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
“…พฤติกรรมของ ‘พิชิต ชื่นบาน’ เรื่องคำสั่งศาลละเมิดอำนาจศาจศาล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่า ๑๕ ปีแล้ว และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้
ดังนั้น การที่ผู้ร้องอ้างว่าการกระทำของ ‘พิชิต ชื่นบาน’ ที่ต้องคำสั่งศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกฐานละเมิดอำนาจ และการถูกลบชื่อจากทะเบียนทนายความ เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรรมอย่างร้ายแรง จึงมีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี โดยมิได้พิจารณาถึงพฤติกรรมและการกระทำอื่นๆ ของผู้ถูกร้องที่ ๒ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมาเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาร่วมด้วย
จึงเป็นการสร้างหลักตรรกะตามอัตวิสัยจากความนึกคิดของผู้ร้องเองเพียงฝ่ายเดียว!…”
นานๆ ครับจะได้เห็นหนังสือชี้แจงจากคนเป็นนายกรัฐมนตรีในลักษณะนี้
แยกไม่ออกเลยหรือระหว่าง ความซื่อสัตย์สุจริต กับการทุจริตในอำนาจหน้าที่ หรืออาชีพ
ไปดูการแก้ข้อกล่าวหาเรื่อง การตกอยู่ใต้ผู้มีอิทธิพลภายนอก นายกฯ เศรษฐาชี้แจ้งไว้ดังนี้ครับ
“…ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องทำนองว่า การแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรี เป็นกรณีที่นายกฯ อยู่ภายใต้อิทธิพลภายนอก เอื้อประโยชน์ให้แก่ ‘พิชิต ชื่นบาน’ และนายทักษิณ ชินวัตร เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีมูล และเป็นเพียงการคาดการณ์ไปเองด้วยอคติของผู้ร้อง…”
คำชี้แจงของนายกฯ เศรษฐา ยืนยันว่าเป็นการกระทำไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและคำนึงถึงประโยชน์ใน
การบริหารราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ประเด็นนี้พิสูจน์โดยข้อกฎหมายลำบาก แต่ในทางการเมือง ชาวบ้านเขารู้กันทั่วครับว่า ระหว่าง นายกฯเศรษฐา กับ “นักโทษชายทักษิณ” ใครใหญ่กว่ากัน
เขารู้ว่าใครคือเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง
ครับ…ก็สรุปได้ว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง นั้น นายกฯ เศรษฐาบอกว่า เป็นหน้าที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัย และสร้างบรรทัดฐาน
ก็ต้องย้อนกลับไปดูคำสั่งศาลคดีละเมิดอำนาจศาลจากกรณีถุงขนม ๒ ล้านบาท
“…ผู้ถูกกล่าวหา ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ
จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหา ๖ เดือน ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน นั้น ให้ผู้กล่าวหาไปดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป…”
นับเป็นงานยากสำหรับศาลรัฐธรรมนูญครับ
เพราะหากมีคำวินิจฉัยว่า “พิชิต ชื่นบาน” ไม่ขัดคุณสมบัติกรณีมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะอธิบายคำสั่งศาลนี้ได้อย่างไร
ส่วนนายกฯ เศรษฐา ปัดทุกอย่างพ้นตัว ทั้งๆ ที่นายกฯ ต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าใคร
นั่นคือ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี
แล้วจะรอดหรือ