จากการเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ครั้งที่ 3 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าตนได้หารือร่วมกับนายหลี่ เฟย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันอย่างกว้างขวางในประเด็นการค้าการลงทุนที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย โดยไทยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน เนื่องจากปัจจุบัน จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของไทย โดยผลักดันให้จีนเร่งเปิดตลาดสินค้าสำคัญ อาทิ โคมีชีวิต ผลไม้ (สละและอินทผาลัม) เพิ่มการนำเข้าข้าวจากไทย
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลง ‘อาร์เซ็ป’ อย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
“จีนได้แจ้งข่าวดีว่า ได้พัฒนาด่านท่าเรือกวนเหล่ยในมณฑลยูนนานให้เป็น ‘ด่านจำเพาะสำหรับ การนำเข้าผลไม้’ ตามที่ไทยเรียกร้องเสร็จสิ้นแล้ว และน่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในไม่ช้านี้ ซึ่งเป็น การเพิ่มช่องทางการขนส่งผลไม้ของไทยไปจีน ผมจึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและผู้ส่งออกผลไม้ไทย เตรียมใช้ประโยชน์ในการขนส่งผลไม้ผ่านด่านท่าเรือกวนเหล่ยต่อไป” นายสุชาติกล่าว
“นอกจากนี้ ผมแจ้งกับฝ่ายจีนว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) ในเดือนกันยายน ที่เมืองหนานหนิง งานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ที่นครเซี่ยงไฮ้ ในเดือนพฤศจิกายน และงานการค้าดิจิทัลโลก (Global Trade Digital Expo) ปีนี้ เพื่อนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพของไทย และมั่นใจว่าจะช่วยขยายการส่งออกของไทยไปจีนได้เพิ่มขึ้น” นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติม
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในการประชุมฯ ครั้งนี้ ฝ่ายจีนให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนในไทยอย่างมาก ซึ่ง
ตนได้เชิญชวนให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี
ในอุตสาหรรมเป้าหมายที่จีนมีศักยภาพ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานทดแทน ดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
โดยขณะนี้ รัฐบาลได้ต่อยอดนโยบาย “อีวี 3.5” ที่สนับสนุนผู้ลงทุนต่างชาติในหลายเรื่อง ทั้งการให้เงินอุดหนุน การลดภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ตนยังได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่าง “อีอีซี” กับนักลงทุนจีนต่าง ๆ เช่น การสร้างความร่วมมือระหว่างนักลงทุนจีนกับสถาบันการศึกษาใน “อีอีซี” เพื่อสร้างบุคลากรรองรับภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว การส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง “อีอีซี” กับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญของจีน อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) หรือ จีบีเอ และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangzte River Delta) หรือ วายอาร์ดี เป็นต้น สำหรับด้านการลงทุน
ทั้งนี้ จีนเป็นนักลงทุนอันดับต้นของไทย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) มีโครงการที่จีนได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวนประมาณ 900 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุนเป็นเวทีสำคัญที่ไทยได้ผลักดันประเด็นส่งเสริมการค้า ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้ากับจีนให้กับผู้ประกอบการไทย และยังเป็นช่องทางในการหารือเพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีน อันจะนำไปสู่การขยายการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน อย่างยั่งยืนต่อไป