ผักกาดหอม
เคาะกันแล้วเคาะกันอีก กับเก้าอี้ประธาน และรองประธานวุฒิสภา
ปฏิเสธไม่ได้เลยครับ สว.ชุดใหม่คือความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม พันธุกรรม และระบบนิเวศ
ฉะนั้นต้องมองอย่างเข้าใจ
วุฒิสภาชุดนี้เป็นชุดที่ ๑๓ มีจำนวน ๒๐๐ คน
สามารถจำแนกในเบื้องแรกได้ ๓ ก๊ก
ก๊กแรก สว.สีน้ำเงิน กลุ่มนี้เยอะหน่อยมีประมาณ ๑๔๐ คน
ก๊กที่สองคือ สว.สีส้ม กลุ่มนี้มีประมาณ ๓๐ คน
และก๊กที่สาม เรียกว่ากลุ่มอิสระ มีประมาณ ๓๐ คนเช่นกัน
รวมตัวเลขกลมๆ ก็ ๒๐๐ คนพอดี
สว. ๓ ก๊กที่ว่านี้ มีแนวโน้ม กลุ่มอิสระพอจะคุยกับกลุ่ม สว.สีน้ำเงินได้
เช่นเดียวกันกลุ่ม สว.อิสระ พอจะคุยกับ สว.สีส้มได้
แต่ สว.สีน้ำเงิน กับ สว.สีส้ม เป็นปลาคนละน้ำ
เพราะ สว.สีส้มเขาประกาศตัวแล้วว่าเป็น สว.พันธุ์ใหม่ พยายามสลัดคราบคางส้มออก
บางคนก็ออก
แต่บางคนคางยังส้มจี๊ดอยู่
วานนี้ (๒๑ กรกฎาคม) กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ เขาเคาะแล้วครับ จะส่ง “นันทนา นันทวโรภาส” ชิงเก้าอี้ประธาน
วุฒิสภา
รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งคือ “แล ดิลกวิทยรัตน์”
และ “อังคณา นีละไพจิตร” เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
หน้าตาไม่ขี้เหร่ครับ ใช้ได้ทีเดียว
ก็ควรลองอีกมิติครับ จากคนที่ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นมาโดยตลอด ลองให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ปฏิบัติบ้าง เผื่อจะเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองในอนาคตครับ
แต่…ต้องผ่านด่าน สว.สีน้ำเงินให้ได้เสียก่อน
สว.สีน้ำเงินโดยส่วนใหญ่ไม่หล่อเหลา หรืองามพริ้งครับ เพราะโดนตราหน้าแต่แรกแล้วว่า มาตามใบสั่งผู้มีบารมีจากบุรีรัมย์
แต่การมี ๑๔๐ เสียงอยู่ในมือ ชี้นกเป็นไม้ก็ต้องเป็นครับ
การที่่ สว.คางส้มมาแนวเดียวกับพรรคก้าวไกล เริ่มต้นด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ สว.กลุ่มอื่น แสดงตนเหมือนไม่เข้าพวก จึงเป็นกระดุมที่กลัดผิดตั้งแต่เม็ดแรก
โอกาสที่คนในกลุ่มจะได้เป็นท่านประธานที่เคารพจึงค่อนข้างริบหรี่
แต่ก็พอมีโอกาสอยู่บ้างกับตำแหน่งรองประธานคนที่ ๒ หากเคลียร์กับอีก ๒ กลุ่มได้ลงตัว
แต่ก็ยังยาก
ที่ว่ายากเพราะกลุ่มอิสระเขามองเกมขาดไปแล้ว
เขาจะส่ง “บุญส่ง น้อยโสภณ” ชิงเก้าอี้รองประธานวุฒิสภา
ขยี้หูอีกที…ไม่ใช่ประธานนะครับ รองประธาน
เพราะกลุ่มอิสระเขารู้อยู่แล้วว่ากลุ่มสีน้ำเงิน จองเก้าอี้ประธานวุฒิสภาแน่ๆ
ไม่มีทางคายให้กลุ่มอื่น
และรู้ว่าอย่างไรเสียกลุ่มสีน้ำเงินต้องยึดตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา ไว้อีก ๑ ตำแหน่ง
ไม่ว่าจะรอง ๑ หรือรอง ๒ ต้องยึดเก้าอี้ใดเก้าอี้หนึ่ง
แต่ไม่น่าจะเหมาหมดทั้ง ๓ เก้าอี้ เพื่อเป็นการสานไมตรีกับกลุ่มอื่น
ก็น่าจะสรุปตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ครับว่า เก้าอี้ประธานวุฒิสภา และรองประธานคนที่ ๑ หรือ ๒ จะเป็นของ กลุ่ม สว.สีน้ำเงิน
ส่วนกลุ่มอิสระคงต้องล็อบบี้อย่างหนักเพื่อเก้าอี้รองประธานคนที่ ๑ แต่หากหลุดไปเป็นรองประธานคนที่ ๒ ก็ไม่มีอะไรเสียหาย
สำหรับ ๓ ทหารเสือพันธุ์ใหม่ คงต้องถอยไปแบ่งโควตาประธานกรรมาธิการในวุฒิสภา ที่มีอยู่ร่วมๆ ๓๐ คณะ
ต้องได้บ้าง อย่าง “แล ดิลกวิทยรัตน์” “อังคณา นีละไพจิตร” ถือว่าคุณภาพคับแก้วอยู่นะ
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก ๒ ประเภท
สมาชิกประเภทที่ ๒ คือ สว. มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ ๑ ซึ่งก็คือ สส.
เสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง
ดังจะเห็นได้จากเหตุผลที่ “ปรีดี พนมยงค์” แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่งว่า
“…ที่เราจำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่สองไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎรในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า ยังมีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครอง ป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์
ถ้าขืนปล่อยให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎร อาจเป็นผู้ที่มีกำลังในทางทรัพย์
คณะราษฎร ปฏิญาณไว้ว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ ๒
ฉะนั้น จึงวางเงื่อนไขไว้ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดำเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง…”
เมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยน ที่มา สว.เปลี่ยน จากสภาพี่เลี้ยง ตอนนี้ยังมองไม่ออกว่า จะเลี้ยงใคร
แต่พอเห็นเค้าว่า ใครเลี้ยง
สำหรับประเทศไทย คนไทย ไม่ว่าจะประดิดประดอย ที่มาของ สว.อย่างไร ผลลัพธ์ไม่หนีกันเท่าไหร่
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดให้มีวุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน ๒๐๐ คน
นับเป็นมิติใหม่ทางการเมืองที่กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน
สวยหรูมากครับ
แต่จบที่สภาผัวเมีย
เลือกไปเลือกมา หน้าตา สว.กับ สส.เหมือนแพะกับแกะ
วุฒิสภาที่มาจากการจิ้มเอาของเผด็จการรัฐประหารหน้าตาค่าเฉลี่ยกลับดีกว่าเสียฉิบ…
ครับ หลังปี ๒๔๗๕ คณะราษฎรกลัวว่าประชาชนไม่มีความรู้พอ เลือกผู้แทนไม่มีคุณภาพเข้าสภา ก็เอาวุฒิสภา ขณะนั้นเรียกว่า พฤฒสภา ไปประกบเป็นพี่เลี้ยง
วันนี้กลับตาลปัตร ประชาชนกลัวว่า สว.มีความรู้ไม่พอ เพราะอำนาจหน้าที่ สว.นั้นกว้างขวางและยิ่งใหญ่มาก
โดยเฉพาะการให้การรับรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
หากอำนาจหน้าที่นั้นเกินความรู้ ถือเป็นเรื่องอันตราย
เพราะโพยจะกลายเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ
ภาวนาครับ ขอให้ที่คิดที่เขียนมา ผิดทั้งหมด