กัลฟ์ เปิด “ศูนย์ไตเทียมประสิทธิภาพสูง” รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย พร้อมระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูล ต่อยอดงานวิจัย

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจสร้างศูนย์ไตเทียมรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พร้อมเครื่องฟอกไตแบบประสิทธิภาพสูงจำนวน 30 เครื่อง มากที่สุดในประเทศไทย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมการฟอกไตประสิทธิภาพสูง (On-line Hemodiafiltration) ที่สามารถขจัดของเสียโมเลกุลใหญ่ ที่การฟอกไตปกติ ไม่สามารถทำได้ ลดการติดเชื้อ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว รวมไปถึงลดยอดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไตในระดับประเทศ

นอกจากนี้ด้วยระบบ Smart IT System ที่จัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยแบบระบบดิจิทัล เชื่อมต่อข้อมูลให้นักศึกษาแพทย์นำมาศึกษาและทำวิจัยได้ รวมถึงต่อยอดเป็นสถานที่การเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ สอดคล้องกับพันธกิจของ GULF ที่มุ่งส่งเสริมด้านสาธารณสุข การศึกษา ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การร่วมสนับสนุนการสร้างศูนย์ไตเทียมประสิทธิภาพสูงแห่งนี้ ที่มุ่งหวังให้เป็น Center of Excellence รองรับผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตอย่างครบวงจร สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของ GULF ที่เดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้กับภาคส่วนต่างๆ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

โดยที่ผ่านมา GULF มุ่งสนับสนุนด้านสาธาณสุข การศึกษา และเยาวชนเป็นหลัก โดยเรื่องสาธารณสุข เรามุ่งทำโครงการที่สนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยและเพิ่มผลผลิต (Productivity) ภาคสาธารณสุขของประเทศในภาพรวม ทาง GULF จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์ไตเทียมฯ แห่งใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไต และเป็นศูนย์การแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อทางโรงพยาบาลในระยะยาวต่อไป”

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า “ศูนย์ไตเทียมประสิทธิภาพสูงแห่งนี้ขยายศักยภาพการบริการ รักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยเป็นศูนย์ฯ ที่มีเครื่องฟอกไตประสิทธิภาพสูงเยอะที่สุด 30 เครื่อง รองรับผู้ป่วยได้ 80-90 รายต่อวัน โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ให้บริการผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการรักษาบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

โดยมีศักยภาพในการให้บริการที่ครอบคลุม ทั้งฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแบบเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) ผู้ป่วยใน (IPD) รวมถึงหัตถการพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคไต เช่น การใส่สายสวนชนิด 2 ช่องทาง (Hemodialysis Catheter) เพื่อใช้ฟอกเลือดทั้งแบบชั่วคราว และแบบถาวร ต้องขอขอบคุณ GULF ที่ร่วมสนับสนุนการสร้างศูนย์ฯ ที่เพิ่มขีดความสามารถของรพ.ธรรมศาสตร์ฯ ในการรองรับผู้ป่วยโรคไต และทำให้คนไทยได้เข้าถึงระบบการรักษาโรคไตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “เครื่องฟอกไตประสิทธิภาพสูงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในทวีปยุโรป มีข้อดี คือ สามารถขจัดของเสียที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ในร่างกายได้มากกว่าการฟอกไตที่ใช้กันโดยทั่วไป การฟอกไตด้วยวิธีนี้สามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจแก้ไม่ได้ด้วยการฟอกไตที่ใช้โดยทั่วไป และที่สำคัญ การฟอกไตด้วยเครื่องฟอกไตประสิทธิภาพสูงนี้ สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคไตได้

นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีระบบผลิตน้ำยาไตเทียมเข้มข้นเพื่อใช้ในการล้างไตเอง จึงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาไตเทียมเข้มข้นแบบแกลลอนเหมือนศูนย์ฯ ทั่วไป ทำให้ลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากกว่า 18 ตันต่อปี ซึ่งเป็นการยกระดับประสิทธิภาพของศูนย์ฯ ในการจัดการปริมาณขยะได้ ขอขอบคุณทางบริษัท GULF ที่เห็นความสำคัญ และมอบเงินสนับสนุนกว่า 55 ล้านบาทในการสร้างศูนย์ไตเทียมสูงแห่งนี้”

ศูนย์ไตเทียมประสิทธิภาพสูงอยู่ชั้น 4 ในอาคารชวน ชูชาติ วพน.7 รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ใช้สอยรวม 900 ตารางเมตร มีเครื่องฟอกไตแบบประสิทธิภาพสูง ล้ำสมัย เสริมขีดความสามารถการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ประเมินวิธี ลักษณะการฟอกไต และปริมาณสารน้ำที่ต้องใช้ในผู้ป่วยแต่ละรายโดยการคำนวณผ่านน้ำหนัก ผลเจาะเลือด รวมถึงสัญญาณชีพของผู้ป่วยในขณะฟอกไต เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายได้รับการฟอกไตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเหมาะสมตามอาการ

Written By
More from pp
ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ติดตามความก้าวหน้า โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด – 19 บ้านจาเราะปูโงะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
23 พ.ค. 63 เวลา 10.00 น. ที่ โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านจาเราะปูโงะ หมู่ที่ 2...
Read More
0 replies on “กัลฟ์ เปิด “ศูนย์ไตเทียมประสิทธิภาพสูง” รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย พร้อมระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูล ต่อยอดงานวิจัย”