เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมอภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่า
หากย้อนไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 นายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ซึ่งระบุว่ารัฐบาลจะดำเนินการแก้ปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยยึดหลักการเปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษา บำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึง เพื่อเพิ่มจำนวนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพให้กลับสู่สังคมไทย โดยใช้มาตรการปราบปรามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดและดึงประชาชนออกมาจากวงจรการค้าอย่างถาวร แต่เมื่อมาดูงบประมาณ 2568 ในส่วนแผนงานบูรณาการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้รับจัดสรรงบประมาณไป 5 พันกว่าล้านบาท แม้จะเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2567 แต่ยังถือว่าน้อยอยู่ ราวกับว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อพี่น้องประชาชน ทั้งๆ ที่แถลงนโยบายว่าจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เรียกได้ว่า “คุณสมบัติของยา ไม่ตรงกับฉลาก”
นายพิทักษ์เดช อภิปรายต่อไปว่า นับเป็นเวลา 9 เดือน และอีกไม่กี่เดือนจะครบ 1 ปี แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้น และแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญและเน้นเรื่องการป้องกันและปราบปรามมากเกินไป อย่างเช่น การเสริมสร้างการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเป้าหมายให้รู้เท่าทัน ดำเนินการสกัดกั้น ลักลอบ ลำเลียง ดำเนินการปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด นำไปสู่กระบวนการขยายผลจับกุม
“สิ่งเหล่านี้ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ท่านจับได้เยอะ แล้วก็สกัดกั้นการลำเลียง ลักลอบ นำเข้ายาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทยได้ ผมสนับสนุน ไม่ได้รังเกียจอะไร แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำให้เท่าๆ กัน กับการป้องกันและปราบปราม คือการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด” นายพิทักษ์เดช กล่าว
และยังได้อภิปรายอีกว่า ในสังคมวันนี้ไม่ว่าจะในเมือง หรือชนบท มีผู้ป่วยยาเสพติดมาก ที่ผ่านมามีนัยยะความหมายว่า คนเสพตาย คนขายติดคุก แต่วันนี้กว่าคนเสพจะตาย ก็ได้ทำร้ายคนอื่น ส่วนคนขายติดคุกนั้น ก็ต้องจับให้ได้ก่อน สิ่งสำคัญเหล่านี้ เมื่อผู้ป่วยยาเสพติดเพิ่มขึ้น จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดและนำมาแก้ไข โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผน การบริหารจัดการผู้เสพที่เข้าสู่กระบวนการการรักษาให้มากกว่านี้ เชื่อมต่อเครือข่าย เป็นศูนย์กลางติดตามช่วยเหลือ ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และกลับมาใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม และมีอาชีพ มีความสุข
“วันนี้รัฐบาลไม่มีหน่วยงานกลาง ไม่ได้บูรณาการแผนในการจัดการรักษาผู้ป่วยยาเสพติด กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปปส. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จับผู้ป่วยไปแต่ไม่รู้จะเอาไปไหน เมื่อผู้ป่วยกระทำละเมิดต่อพี่น้องประชาชน ทำร้ายร่างกายครอบครัว ทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต แต่รัฐบาลยังนั่งดูดาย นายกฯ ที่ชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน วันนี้ทำแล้วเป็นหน้าเป็นตาที่สุดคือ เวลานักข่าวถามแล้วท่านจะทำคิ้วขมวด และปากจู๋ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท่านทำอยู่เป็นประจำ แล้วเป็นหน้าเป็นตาอยู่ในสื่อโซเชียลมากมาย” นายพิทักษ์เดช กล่าว
นอกจากนี้ยังระบุว่า เมื่อวันนี้ไม่มีหน่วยงาน ไม่มีศูนย์บำบัดที่เป็นของรัฐ พี่น้องประชาชนที่ไม่มีเงิน ก็นั่งรอให้ลูกหลานติดยาเสพติดจนป่วย และถึงแก่ความตาย คนที่มีเงินก็ไปอยู่ศูนย์บำบัดยาเสพติดของเอกชน สิ่งนี้เป็นรัฐต้องคิด นายกฯ ต้องคิด ตนจึงเสนอว่า รัฐบาลต้องตั้งศูนย์บำบัดยาเสพติดในแต่ละจังหวัด หรือบูรณาการร่วมกับกองทัพ อุดหนุนงบประมาณให้กองทัพ เพราะกองทัพมีกำลังพล มีทหารจิตวิทยา มีทหารเสนารักษ์ มีพื้นที่ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในส่วนอื่นๆ และนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้นำจัดตั้งแผน หากปล่อยให้เป็นปัญหายืดเยื้อ ตนเชื่อว่าอีกไม่นานเยาวชนไทยจะมีแต่จมลงเพราะติดยาเสพติด
“วันนี้สงสาร สงสารกรมการปกครอง สงสารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สงสารเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สารวัตร แพทย์ผู้ช่วย เวลามีผู้ป่วยขึ้นในชุมชนจะต้องไปจับเพื่อรักษา แต่ไม่รู้จะพาไปไหน อุปกรณ์ที่ไปจับ ไทยเรามีแต่ไม้ง่าม เหมือนไม้แขวนเสื้อไว้เกี่ยวคอ รัฐบาลไม่คิดจะสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ให้หน่วยงานที่ดูแลยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ ล้วนล้าหลังเสื่อมถอยทั้งหมด” นายพิทักษ์เดช กล่าว
พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ตนในฐานะผู้แทนราษฎร เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้ก็รับไม่ได้ จึงมีข้อเสนอที่อยากให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรี เพิ่มจัดการบริหารด้านยาเสพติด ตนจึงไม่เห็นด้วยกับร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 “เศรษฐกิจก็เสดสา พัฒนาก็ค้างคาใจ ยาเสพติดก็ติดกันไป สบายใจรัฐบาลเศรษฐี”