“ชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง” บุกสภา จี้รัฐ 5 ข้อ ช่วยแก้ราคากุ้งตกต่ำ ตั้งแต่ เม.ย. 2567

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย รับยื่นหนังสือจาก นายวนัส วัตตธรรม ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จ.กระบี่ นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย และคณะ เรื่อง ราคากุ้งตกต่ำ ตั้งแต่กลางเดือน เมษายน 2567 เป็นต้นมา

ทำให้เกษตรกรขายกุ้งขาดทุน และยังไม่มีแนวโน้มว่าราคาจะดีขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก รวมทั้งผลกระทบจากโรคระบาดต่างๆ จึงขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เร่งด่วน 5 ข้อ ดังนี้

1. ส่งเสริมการตลาด กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และโฆษณาเชิญชวนให้คนในพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งและใกล้เคียงกินกุ้ง

2. กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในช่วยกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคเพื่อช่วยเกษตรกรกิโลกรัมละ 20 บาท โดยกำหนดราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต หรือมาตรการอื่นตามความเหมาะสม

3. ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหาร

4.โครงการระยะยาว ให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกับผู้ผลิต และผู้ค้าปัจจัยการผลิต จัดหาสินค้าราคาถูก เช่น เคมีภัณฑ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาหารกุ้ง ลดค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส และน้ำมัน ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต

5.ยกเลิกการนำเข้ากุ้งมาภายในประเทศไทย

เนื่องจากช่วงเวลาหนึ่งเกษตรกรประสบปัญหาการผลิตทำให้ไม่สามารถผลิตกุ้งได้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการของห้องเย็น จึงขออนุญาตนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงแล้ว จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกการอนุญาตดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศ

นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ปัญหาราคากุ้งตกต่ำไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นซ้ำทุกปี รัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และ สส. ทุกคนต่างทราบปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี รัฐบาลจึงควรวางแผนให้มีความชัดเจนและมีความมั่นคงที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการร่าง พ.ร.บ. หรือการตั้งบอร์ดกุ้งในระดับประเทศ โดยมีภาคีเครือข่ายครบทุกกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกิจการห้องเย็น ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนกลุ่มผู้ค้าอาหารสัตว์ ให้มีจำนวนมากพอที่จะสามารถเจรจาต่อรองร่วมกันได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเป็นเรื่องใหญ่ แม้ว่าพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งอาจจะมีจำนวนไม่มากเท่ากับเกษตรกรผู้ผลิตข้าว แต่ผลกระทบทั้งภายในและภายนอกประเทศก็มีไม่น้อยเช่นกัน รวมทั้งปริมาณการส่งออกและการนำเข้าถือเป็นจำนวนที่สูงพอสมควร

นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้ตัวแทนประธานชมรมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ และสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยได้ไปพบอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลจึงควรบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว นอกเหนือไปจากการแทรกแซงราคา โดยต้องมีความรู้เท่าทันการได้เปรียบเสียเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งทางการตลาด

นอกจากนี้ ในปัจจุบันราคาต้นทุนมีจำนวนสูง แต่ราคาขายกลับตกต่ำทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ที่ต้องดำเนินการให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งสามารถอยู่ได้ รวมทั้งการแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนต่อไป

Written By
More from pp
ปลัด สธ.เผยเหตุเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์สารอันตราย “ท่าเรือแหลมฉบัง” มีผู้ป่วย 6 ราย เตือน ปชช.สวมหน้ากาก มีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยเหตุเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์ ลานสินค้าอันตราย ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นตู้บรรจุสารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์ มีฤทธิ์กัดกร่อน อพยพคนงาน 183 ราย พบมีอาการทางเดินหายใจ 6 ราย...
Read More
0 replies on ““ชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง” บุกสภา จี้รัฐ 5 ข้อ ช่วยแก้ราคากุ้งตกต่ำ ตั้งแต่ เม.ย. 2567”