สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดนราธิวาส

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงสาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด บ้านโคกชุมบก อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

ทรงติดตามการดำเนินงานพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร
ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามาดำเนินการเป็นสาขาที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ 3 หมู่บ้าน กว่า 30,000 ไร่ ในการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดให้สามารถทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกร โดยใช้หินปูนฝุ่นปรับปรุงดินจนประสบผลสำเร็จและได้เริ่มฝึกอบรมให้กับเกษตรกร ในปี 2547
ระยะแรก นายเดช มินทการต์ เกษตรกรในพื้นที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ และพัฒนาพื้นที่ของตนในปี 2554 จากพื้นที่ 7 ไร่ ซึ่งเคยรกร้างประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัด มีคุณภาพต่ำไม่สามารถทำการเกษตร ได้พัฒนาและปรับปรุงดินจนสามารถทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกข้าว พืชไร่ และพืชสวน อาทิ อ้อย, มะพร้าวน้ำหอม และแก้วมังกร เลี้ยงปลา และเพาะเห็ด
ปัจจุบันมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวปีละกว่า 70,000 บาท และยังเป็นพื้นที่ต้นแบบสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาเรียนรู้ มีเกษตรกรสนใจทดลองทำในพื้นที่ของตน 6 ครอบครัว กว่า 30 ไร่
ด้านการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติโดยนำน้ำจืดจากคลองมูโนะมาช่วย พร้อมกับการแยกน้ำจืดจากคลองสุไหงปาดีในการปรับปรุงคุณภาพดินและน้ำ นอกจากนี้ยังนำหินปูนฝุ่น และปูนขาวมาปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อปรับความเป็นกรด
โอกาสนี้ พระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าว และเมล็ดพันธุ์ผัก จากโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์สำรอง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในยามวิกฤต แก่ผู้แทนเกษตรกร 5 ราย
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านรอตันบาตู อำเภอเมือง ทรงติดตามผลการดำเนินงานฟาร์มตัวอย่างฯ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของจังหวัด เป็นแหล่งเรียนรู้โดยการปฏิบัติ เป็นแหล่งจ้างงาน และแหล่งศึกษาดูงาน
มีพื้นที่ดำเนินงาน 716 ไร่ แบ่งเป็นส่วนโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งพื้นที่อาศัยและที่ทำกินแก่ราษฎรที่ประสบปัญหาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 150 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 2 ไร่ รวม 338 ไร่ และส่วนพื้นที่ฟาร์มตัวอย่าง 378 ไร่ ที่ดำเนินกิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่
ด้านพืชเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ ผักสลัด กระเจี๊ยบเขียว และถั่วฝักยาวที่ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ ผลิตผลทางการเกษตรทุกชนิดได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด,
ด้านปศุสัตว์ มีการเลี้ยงแพะ และปลูกหญ้าอาหารแพะ เช่น หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1, หญ้าหวานอิสราเอล, ตลอดจนหญ้า และใบไม้ต่าง ๆ เช่น ข้าวโพดอ่อน ใบมันปู ซึ่งสามารถนำมาเป็นอาหารแพะได้
นอกจากนี้ ยังผลิตอาหารเสริมสูตรต่าง ๆ ให้แพะกิน เพื่อสารอาหารครบถ้วนและลดต้นทุนอาหาร,


ด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการแปรรูปผลผลิต ที่ผ่านมามีประชาชนเข้าไปศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560-2562 มีเกษตรกรเข้าอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรการขยายพันธุ์พืช มะละกอ ฝรั่ง และมะนาว 20,818 คน และศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตน 60,793 คน
ในการนี้ ทอดพระเนตรโครงการสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติริมแม่น้ำบางนรา และทอดพระเนตรต้นลำพู ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงปลูกเป็นที่ระลึก รวมถึงระบบนิเวศและป่า บนสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. เป็นสะพานปูนยาว 285 เมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติของระบบนิเวศและพันธุ์ไม้จากป่า 3 ประเภท ได้แก่ ป่าบก ป่าชายเลน และป่าพรุ ซึ่งเป็นแนวเชื่อมต่อของระบบนิเวศที่ต่างกัน และมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
โอกาสนี้ ทรงปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด และปลาพื้นเมือง 9 ชนิด จำนวน 99 ตัว ลงสู่แม่น้ำบางนรา ทั้งนี้ฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านรอตันบาตู ตั้งอยู่ในที่ลุ่มแม่น้ำบางนรา ทำให้พื้นที่อาศัยและพื้นที่ทำกินของฟาร์ม และของสมาชิก ประสบปัญหาน้ำท่วมขังทุกปี ส่วนพื้นที่สูงประสบปัญหาขาดแหล่งน้ำในช่วงหน้าแล้ง
กรมชลประทาน จึงแก้ปัญหาโดยขุดคลองชักน้ำจากแม่น้ำบางนรา ความยาว 400 เมตร และก่อสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมระบบคูส่งน้ำ ยาว 4,955 เมตร เข้าสู่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และพื้นที่กิจกรรมของฟาร์มตัวอย่าง ต่อมาได้ก่อสร้างระบบคูส่งน้ำเพิ่มเติมภายในฟาร์มตัวอย่าง ก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการฯ และถนนภายในฟาร์มตัวอย่าง
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ได้ขุดคลองระบายน้ำ และคูระบายน้ำในพื้นที่ฯ ความยาว 5,330 เมตร พร้อมอาคารท่อลอดถนนในระบบระบายน้ำ 10 แห่ง เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางนรา ช่วยลดระยะเวลาน้ำท่วมได้จาก ท่วม 15 วัน เป็น 3-5 วัน
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปลานอาคารแปดเหลี่ยม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นำคณะข้าราชการ และเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลและแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรของจังหวัดนราธิวาส เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลไม้และของดีเมืองนรา อาทิ ลองกองตันหยงมัส รังแข ทุเรียน และสะตอ
จากนั้น ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ วิสาหกิจชุมชนส้มแขกกาลิซา จังหวัดนราธิวาส, กลุ่มผ้าทอบ้านตอหลัง จังหวัดนราธิวาส, วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายกัลยาณิวัฒนา จังหวัดนราธิวาส, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอาหารทะเลเพื่อสุขภาพปัตตานี จังหวัดปัตตานี, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกล้วยหินนังตา จังหวัดยะลา, กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร จังหวัดยะลา และกลุ่มอัลฮามีนบาติก จังหวัดนราธิวาส
ข่าวและภาพจาก
Written By
More from pp
แถลงข่าวผลการจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดรายสำคัญ ของกลางเป็นไอซ์ กว่า 1,000 กก. เตรียมกระจายในพื้นที่ จชต. และประเทศเพื่อนบ้าน
15 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. ที่ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลโท เกรียงไกร...
Read More
0 replies on “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดนราธิวาส”