เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย รับยื่นหนังสือจาก นายวนัส วัตตธรรม ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จ.กระบี่ นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย และคณะ เรื่อง ราคากุ้งตกต่ำ ตั้งแต่กลางเดือน เมษายน 2567 เป็นต้นมา
ทำให้เกษตรกรขายกุ้งขาดทุน และยังไม่มีแนวโน้มว่าราคาจะดีขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก รวมทั้งผลกระทบจากโรคระบาดต่างๆ จึงขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เร่งด่วน 5 ข้อ ดังนี้
1. ส่งเสริมการตลาด กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และโฆษณาเชิญชวนให้คนในพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งและใกล้เคียงกินกุ้ง
2. กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในช่วยกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคเพื่อช่วยเกษตรกรกิโลกรัมละ 20 บาท โดยกำหนดราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต หรือมาตรการอื่นตามความเหมาะสม
3. ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหาร
4.โครงการระยะยาว ให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกับผู้ผลิต และผู้ค้าปัจจัยการผลิต จัดหาสินค้าราคาถูก เช่น เคมีภัณฑ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาหารกุ้ง ลดค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส และน้ำมัน ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต
5.ยกเลิกการนำเข้ากุ้งมาภายในประเทศไทย
เนื่องจากช่วงเวลาหนึ่งเกษตรกรประสบปัญหาการผลิตทำให้ไม่สามารถผลิตกุ้งได้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการของห้องเย็น จึงขออนุญาตนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงแล้ว จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกการอนุญาตดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศ
นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ปัญหาราคากุ้งตกต่ำไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นซ้ำทุกปี รัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และ สส. ทุกคนต่างทราบปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี รัฐบาลจึงควรวางแผนให้มีความชัดเจนและมีความมั่นคงที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการร่าง พ.ร.บ. หรือการตั้งบอร์ดกุ้งในระดับประเทศ โดยมีภาคีเครือข่ายครบทุกกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกิจการห้องเย็น ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนกลุ่มผู้ค้าอาหารสัตว์ ให้มีจำนวนมากพอที่จะสามารถเจรจาต่อรองร่วมกันได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเป็นเรื่องใหญ่ แม้ว่าพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งอาจจะมีจำนวนไม่มากเท่ากับเกษตรกรผู้ผลิตข้าว แต่ผลกระทบทั้งภายในและภายนอกประเทศก็มีไม่น้อยเช่นกัน รวมทั้งปริมาณการส่งออกและการนำเข้าถือเป็นจำนวนที่สูงพอสมควร
นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้ตัวแทนประธานชมรมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ และสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยได้ไปพบอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลจึงควรบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว นอกเหนือไปจากการแทรกแซงราคา โดยต้องมีความรู้เท่าทันการได้เปรียบเสียเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งทางการตลาด
นอกจากนี้ ในปัจจุบันราคาต้นทุนมีจำนวนสูง แต่ราคาขายกลับตกต่ำทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ที่ต้องดำเนินการให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งสามารถอยู่ได้ รวมทั้งการแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนต่อไป