ยกเลิกการเซนเซอร์? – สันต์ สะตอแมน

สันต์ สะตอแมน

ปีใหม่ 2567..กราบสวัสดี!

หวังว่าปีนี้จะเป็น “ปีทอง” ของทุกๆ ท่าน ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจแขนงใดก็ขอให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีกำไร เป็นพนักงาน-ลูกจ้างก็ขอให้มั่นคงในอาชีพ

ข้าราชการก็ขอให้เลื่อนขั้นไปตามความรู้ ความสามารถ เป็นรัฐมนตรี-นายกฯ ก็ขอให้อยู่ครบวาระ-ครบเทอม!

ส่วนคนในแวดวงบันเทิง..ขอให้เริงร่าอย่าได้หงอยเหงา โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แม้ปีผ่านมาจะคึกคัก เป็นปีที่ “สุดยอด” มีหนังทำเงินรายได้ 700-800 ล้านบาทก็จริง

แต่ธุรกิจภาพยนตร์ต่างกับธุรกิจอื่น ที่ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ทุกเรื่องไป ไม่ใช่ “สัปเหร่อ” เก็บเงินได้ 700 ล้านแล้ว..

เรื่องต่อไปของผู้สร้าง-ผู้กำกับทีมเดิม-คนเดิมจะเก็บ 700 ล้าน หรือ 1,000 ล้าน หาอย่างนั้นไม่?

ฉะนั้น..ผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จในปีก่อน ก็ต้องไม่หย่อนยานในฝีมือ ส่วนผู้ที่ล้มเหลวก็อย่าได้ท้อแท้ หมดกำลังใจ!

นี่..ได้อ่านที่คุณนุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โพสต์ก่อนจะสิ้นปีเก่า น่าจะทำให้ผู้กำกับหนังมีแรงฮึด แรงสูงและกำลังใจขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อย

เธอว่า.. “ปี 2566 เป็นปีที่ดีของหนังไทย..ในปีนี้และปีต่อๆ ไป จะเริ่มมีการพัฒนาระบบนิเวศน์ของวงการภาพยนตร์ไทยที่เอื้อให้หนังทุกๆเรื่องประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นค่ะ

เช่น การร่างพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่เพื่อยกเลิกการเซนเซอร์ภาพยนตร์ และการจัดตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในรูปแบบต่างๆ

ทางสมาคมผู้กำกับฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้อยู่เสมอ และมีความตั้งใจผลักดันให้รูปแบบการจัดตั้งองค์กร, การบริหาร และการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างๆ

ให้ความสำคัญกับ “เสียง” ของคนในวงการอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะผู้ผลิตและสร้างสรรค์งาน) เป็นอันดับหนึ่ง

โดยให้ทางฝ่ายราชการ การเมืองเป็นผู้คอยให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและกฏระเบียบ นักทำหนังท่านใดสนใจออกความเห็นเพื่อพัฒนาด้านต่างๆ สามารถส่งข้อความมาในเพจเลยค่ะ

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยรอชื่นชมผลงานของทุกท่านที่กำลังจะออกสู่สายตาของผู้ชมชาวไทยและชาวโลก”

ครับ..ก็คอยดู ว่า “การพัฒนาระบบนิเวศน์ของวงการภาพยนตร์ไทยที่เอื้อให้หนังทุกๆเรื่องประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น” นั้น จะจริงแท้ทรูหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ค่อยจะเข้าใจสักเท่าไรที่คุณนุชี่ยกตัวอย่างของการพัฒนาระบบนิเวศน์ว่า..เช่น “การร่างพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่เพื่อยกเลิกการเซนเซอร์ภาพยนตร์”

คุณนุชี่พูดผิดหรือผมเข้าใจผิดไม่ทราบ แต่ที่เท่าที่รู้..การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ.๒๕๕๑ โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจพิจารณาภาพยนตร์..

ได้เปลี่ยนจากระบบการตรวจพิจารณาในระบบการ “เซ็นเซอร์” มาเป็นจัดแบ่งประเภทภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑

ซึ่งก็หมายความว่า ประเทศไทยได้ยกเลิกการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ เป็นการกำหนดประเภท หรือ “เรตติ้ง” มาตั้งแต่ปี 2552 นู้นแล้ว!

หรือว่า “การร่างพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่” ที่คุณนุชี่นำมาบอกกล่าวนี้ จะหมายถึง ไม่มีการ “กำหนดเรตติ้ง” อีกต่อไป ..

ใครจะทำ-จะสร้างหนังกันอย่างไรก็ปล่อย อิสระ เสรี ตามความต้องการของแต่ละคนกระนั้นหรือ?

ถ้าจะเอากันอย่างนั้นก็เอา ผมก็ยินดีที่จะได้เห็นเจ้าของ (ทุน) หนัง ผู้กำกับร่ำรวยกันทั่วหน้า กระนั้นผมก็ไม่มั่นใจเสียทีเดียวว่า ไม่มีเซนเซอร์-ไม่มีเรตติ้งแล้ว..

หนังไทยจะโกยเงินร้อยล้านพันล้าน (ง่ายๆ) เพราะอย่างสัปเหร่อหรือหนังไทยอีกหลายๆ 100 เรื่อง ที่เก็บเงินได้-มีกำไร..

ที่ผ่านมาก็ฉายอยู่ภายใต้พรบ.ภาพยนตร์ที่กำหนดเรตติ้งทั้งเพ ซึ่งแสดงว่าไม่ได้มีอุปสรรคต่อความสำเร็จของรายได้หนังไทยแต่อย่างใด!

เนี่ย..พูดแบบ “เสียง” ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย!

Written By
More from pp
นายกรัฐมนตรีเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2564 ชูเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นความรู้พื้นฐานของคนไทย
นายกรัฐมนตรี เปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2564 ชูเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นความรู้พื้นฐานของคนไทย ย้ำรัฐบาลมุ่งให้เยาวชนและคนไทยเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ฯ ให้พร้อมปรับตัวเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล
Read More
0 replies on “ยกเลิกการเซนเซอร์? – สันต์ สะตอแมน”