สันต์ สะตอแมน
“ลอยกระทงดิจิทัล” ที่คลองโอ่งอ่าง
ดูเหมือนจะเป็นความภาคภูมิใจของผู้ว่ากทม.คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อยู่ไม่น้อย เห็นคุยว่า “เป็นครั้งแรกของโลก ที่มีการจัดลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping
เพื่อลดขยะ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ยังคงไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามไว้ด้วยกัน”
หลายท่านชื่นชมเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ส่วนผมมองว่า ถ้าลองกลัวขยะเพิ่ม กลัวสิ่งแวดล้อมจะทรุดโทรม-เสียหายกับการลอยกระทงปีละหนล่ะก็..
ประกาศยกเลิกประเพณีตามที่เด็กๆ แกนนำสามนิ้วมันอยากไปเหอะ!
ลอยกระทงดิจิทัล จะคงไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงามจริงหรือไม่ไม่แน่ใจ แต่อยากให้ตระหนักและเข้าใจด้วยว่าประเพณีลอยกระทงนั้น วัตถุประสงค์-ความสำคัญจริงๆคืออะไร?
พอดีวันก่อน อ่านที่ “คุณผักกาดหอม” เขียนช่วงตอนหนึ่งว่า.. “กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมเสนอประเพณีลอยกระทงให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และ เพื่อเพิ่มน้ำหนัก กระทรวงวัฒนธรรมจะนำเสนอยูเนสโกใน ๓ ประเด็น คือ
๑.มิติพิธีกรรมและประเพณี คือ การปฏิบัติอันดีงามของคนที่สืบทอดกันมาแต่สมัยโบราณ ในการนำดอกไม้ ธูปเทียนใส่ในกระทงลอยในแม่น้ำในช่วงเวลา ที่งดงามและเหมาะสม
๒.มิติศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาการประดิษฐ์กระทงที่มีเอกลักษณ์ ของคนไทย เกิดการคิดค้นประดิษฐ์กระทงในรูปแบบต่างๆ ด้วยภูมิปัญญา
งานดอกไม้ ใบตอง เครื่องหอม และเกิดงานสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เช่น กระทงรักษาสิ่งแวดล้อมย่อยสลายง่าย
๓.การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนตามแนวทางองค์การสหประชาชาติ หรือ SDG สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรม
ในด้านสังคมประเพณีลอยกระทง ทำให้มีการรวมตัวของผู้คน ร่วมแรงร่วมใจทำกิจกรรมตามความเชื่อและศาสนา ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี
ด้านศาสนาเป็นการสร้างจิตสำนึกในการแทนคุณ บำเพ็ญกุศลทำความดีให้จิตใจเบิกบาน”
ครับ..จึงน่าจะทำให้เข้าใจในประเพณี-หลักความสำคัญที่แท้จริง แต่การที่ผู้ว่าชัชชาติกลัวขยะจะรกกรุงเทพฯ แม่น้ำลำคลองจะเหม็นเน่าเสียหาย
แล้วใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้คนจินตนาการหรือ “สร้างมายามิติ” ด้วยการลอยกระทงดิจิทัล ก็ไม่รู้ว่ายูเนสโกจะคิด-มองประการใด?
ลอยกระทงน่ะ ต้องได้อารมณ์ ได้ความรู้สึก และอารมณ์-ความรู้สึกจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการถือกระทงธรรมชาตินั่งริมคลอง-ริมน้ำแล้วตั้งจิตอธิษฐาน..
หากจะมีแฟน-มีคนรักร่วมประคองด้วยแล้ว..ฟินตายเลย!
และในกระทงก็ต้องเคร่งครัดทางความเชื่อ ต้องใส่เงิน ใส่ข้าวสาร ใส่ข้าวตอก ใส่ดอกไม้ จุดเทียน พร้อมกับใส่เศษผม-เศษเล็บ เพื่อลอยทุกข์-ลอยโศก และเสริมดวงให้โชคดี
ไม่ใช่ไปยืนส่องไฟผ่านกระดาษที่วาดรูปกระทงลงคลองอย่างนั้น ถามจริงๆ เถอะ เป็นการรักษาประเพณีลอยกระทงที่ดีงาม หรือเป็นการสร้างประเพณี (พิเรนท์) ใหม่กันแน่..หือ?
ครับ..ก็คุยกันเป็นควันหลง เพราะลอยกระทงก็ได้ผ่านมาวันสองวันแล้ว ซึ่งปีนี้สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.แจ้งว่า เก็บกระทงได้ทั้งหมด 639,828 ใบ เพิ่มจากปีก่อนที่เก็บได้ 572,602 ใบ
เนี่ย..แสดงว่าผู้คนเริ่มจะไม่กลัวเจ้าโควิดแล้วจึงได้ออกมาสนุกสนานร่วมลอยกระทงกันมากขึ้น หรือไม่ก็บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไม่ได้วิกฤติตามที่รัฐบาลแช่งตัวเองอยู่..
ว้า..ท่าจะอดได้ 10,000 บาท เสียกระมัง?