ผักกาดหอม
สงสัยมีเรื่องต้องเคลียร์กันเยอะ!
วันนี้ (๑๓ กรกฎาคม) “ประธานวันนอร์” เรียกประชุมรัฐสภา เวลา ๐๙.๓๐ น. แต่เริ่มโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ ๓๐ โน้นนนน….๑๗.๐๐ น.
แสดงว่าปล่อยให้ที่ประชุมรัฐสภาระบายความอัดอั้น เผาเวลากันถึง ๗ ชั่วโมงครึ่ง
จะถกเถียงกันหัวข้ออะไรบ้าง?
ที่ชัวร์ น่าจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการเสนอชื่อ
ส่วนที่เหลือนอกจากมี ส.ส., ส.ว.โชว์ออฟ แล้ว อาจมีส.ส.ลักไก่ปราศรัยหาเสียงเรื่องพื้นที่เลือกตั้งของตัวเองบ้างประปราย
แต่หลักๆ คงจะเป็นขั้นตอนการโหวตเลือกนายกฯ
จะโหวตกันกี่รอบ
เสนอชื่อเดิมได้หรือไม่
แค่นี้ก็อาจใช้เวลาค่อนวันแล้ว เพราะที่ประชุมรัฐสภามีสมาชิกถึง ๗๕๐ คน
ลุกขึ้นมาอภิปรายสัก ๕๐ คน ก็เกือบจะหมดวันไปแล้ว
แต่มีประเด็นให้จับตาดูอยู่เหมือนกัน และสำคัญต่อการโหวตเลือกนายกฯ เสียด้วย
วานนี้ (๑๒ กรกฎาคม) มีท่าทีอย่างเป็นทางการจากพรรคเพื่อไทย เป็นมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ “พิธา” เป็นนายกฯ
ส.ส.เพื่อไทยทุกคนจะขานชื่อ “พิธา” ในสภาด้วยน้ำเสียงที่ดังฟังชัด
ฉะนั้นก้าวไกล ไม่ต้องกังวล
ไม่มีหรอกครับ…
“พิทองธา ลิ้มเจริญวัตร”
“พิฐา สินเจริญรัตน์”
“พิชัย นิติสิริรัตน์”
ชัดๆ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แน่ๆ ชื่อนี้นอนมา…
แต่ตอนที่สภาฯ ถกเถียงกันเรื่อง โหวตชื่อ “พิธา” ได้กี่รอบ รบกวนแฟนคลับ ช่วยสังเกตกันนิดว่า มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอแจมอภิปรายสนับสนุนว่าสามารถโหวตชื่อ “พิธา” ได้หลายรอบ เหมือนที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลเงื้อมาจากบ้าน แล้วทุบโต๊ะว่าต้องเลือก “พิธา” จนกว่าจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่
หรือการอภิปรายในประเด็นอื่นๆ เพื่อสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯ ให้ได้ หาก ส.ส.เพื่อไทย ไม่หือไม่อือ นั่งเป็นเตมีย์ใบ้ ก็ฟันธงได้เลย…
รองับเหยื่ออยู่!
เรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ของ “พิธา” ก่อนโหวตเลือกนายกฯ ที่พรรคก้าวไกลต้องการหนักหนานั้น ก็อาจได้พูดสมใจ
แต่มีโอกาสเข้าเนื้อ หากการแสดงวิสัยทัศน์นั้นคือการ เสนอแก้ ม.๑๑๒
เพราะหากมีสมาชิกรัฐสภาต้องการให้อธิบายอย่างชัดเจนในเนื้อหาของการแก้ไข ว่าเป็นการลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่
การถกเถียงประเด็น ม.๑๑๒ ก็จะใช้เวลากันอีกพักใหญ่
หาก “พิธา” ไม่แสดงวิสัยทัศน์เรื่องนี้ ก็เป็นไปได้ว่า สมาชิกรัฐสภาจะลุกขึ้นทวงถามให้ “พิธา” อธิบาย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การแก้ไข ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกลนั้น เป็นเงื่อนสำคัญของ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนมาก ใช้เป็นเครื่องตัดสินใจว่า จะเลือก หรือ ไม่เลือก “พิธา” เป็นนายกฯ
แสดงวิสัยทัศน์จบ ถ้าโหวตแล้ว “พิธา” ได้เสียงเกิน ๓๗๖ เสียง ก็คือจบครับ “พิธา” เป็นนายกฯ คนที่ ๓๐
เรื่องก่อม็อบ อย่าเลยครับ เพราะถือว่า “พิธา” ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ต้องปล่อยให้ตั้งรัฐบาล แถลงนโยบาย แล้วเข้าบริหารประเทศ
บริหารแล้วตรงไหนไม่ดี ดูแล้วจะพาชาติฉิบหายก็ค่อยว่ากันตอนนั้น
เช่นกันหาก “พิธา” ไม่ผ่าน ๓๗๖ เสียง กระบวนการเลือกนายกฯ ก็ดำเนินต่อไป จะโหวตชื่อ “พิธา” กี่รอบก็เป็นเรื่องของที่ประชุมรัฐสภาต้องหาข้อยุติ
แต่การใช้ม็อบกดดันมันก็เท่ากับไม่เคารพกติกา
อยากได้อะไรใช้มวลชนกดดันซ้ำแล้วซ้ำอีก จนการเมืองไร้ทางออก เพราะม็อบตระกูลทะลุเต็มไปหมด มันอาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมาได้
แทนที่จะได้เห็น “พิธา” เป็นนายกฯ กลับต้องปิดเทอมยาวกันอีก
ฉะนั้นไม่ควรสร้างเงื่อนไข
ระบอบประชาธิปไตย ต้องมาพร้อมกับความอดทน ทำตามเสียงส่วนใหญ่ เคารพเสียงข้างน้อย ที่สำคัญต้องอยู่บนข้อเท็จจริง ไม่ใช่เฟกนิวส์ในโซเชียล
“พิธา” มีความจริงที่ต้องเผชิญอีกหลายเรื่อง
เรื่อง กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีหุ้นไอทีวี ต้องพักไว้ก่อน เพราะอยู่ในขั้นตอนรับคำร้องในทางธุรการ
ยังต้องผ่านกระบวนการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะ
แต่มีเรื่องที่ “พิธา” พรรคก้าวไกล คอพาดเขียง
คือ คำร้องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ ๑) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ ๒) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง หรือไม่
คดีนี้หลังจากอัยการสูงสุดยึกยักไม่ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน ๑๕ วัน
วานนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้วครับ
สิ่งที่ “พิธา-ก้าวไกล” ต้องทำคือ ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน ๑๕ วัน
มีคำพูดของ “ประธานวันนอร์” ฟังแล้วชวนให้คิดว่าหมายถึงอะไร
คือการตอบคำถามเรื่องโหวตชื่อ “พิธา” ได้กี่รอบ
“…คุณพิธาสามารถแสดงวิสัยทัศน์ก่อนได้ ทั้งนี้ เรายังไม่รู้ว่าคุณพิธาจะได้รับเสียงโหวตหรือไม่ผ่าน แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องมาพิจารณา โดยยึดตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ และมติที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยมาแล้วแม้จะไม่เกี่ยวกับกรณีนี้โดยตรง และความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาว่าจะสามารถทำได้อย่างไร…”
ก็ไม่ทราบว่าเจตนาที่แท้จริงของ “ประธานวันนอร์” คืออะไร
แต่เมื่อบอกว่า “มติที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยมาแล้วแม้จะไม่เกี่ยวกับกรณีนี้โดยตรง” ก็อดไม่ได้ที่จะนึกไปถึง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๘-๒๙/๒๕๕๕
“มาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งกำหนดลักษณะความผิดเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาตราดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา ๔๕ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ อันเป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การกำหนดอัตราโทษตามมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก็เป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิดฐานดังกล่าว เพราะเป็นการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๒๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ประกอบกับเพื่อพิทักษ์ ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้ายได้โดยง่าย…”
การโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ที่ประกาศไม่ลดเพดานแก้ ม.๑๑๒ อาจเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา
เพราะท่านมีส่วนพาประเทศเข้าสู่ความขัดแย้ง