ให้บทเรียนนายกฯ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

นานวันก็ยิ่งเห็น

นายกฯ เศรษฐา มีวุฒิภาวะการเป็นผู้นำประเทศค่อนข้างต่ำ

เริ่มบ่อยครั้งมากขึ้นที่พูดแล้วต้องแก้คำพูดตัวเองตามทีหลัง

กรณี ผู้ว่าแบงก์ชาติ ก็เช่นกัน

การโพสต์ผ่านโซเชียล เมื่อคืนวันที่ ๗ มกราคม ที่ผ่านมา ถือว่าผ่านการไตร่ตรองอย่างดีแล้ว เพราะโดยปกติคนทั่วไป การเขียนมักจะรอบคอบรัดกุมกว่าการพูด

ฉะนั้นข้อความที่ปรากฏ นายกฯ เศรษฐา ตำหนิผู้ว่าแบงก์ชาติ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” จึงถือว่าไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว

“…จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่า แบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ…”

แล้วตอกย้ำหลังจากนั้นด้วยการให้สัมภาษณ์ไปในทิศทางเดียวกันในวันถัดมา

“…เรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของตนก็ชัดเจนว่า ผมไม่เห็นด้วย แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น ซึ่งนัยที่ผมได้โพสต์ข้อความไปเมื่อคืนนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องสินค้าการเกษตร พืชผลต่างๆ ที่ผมอยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลไม่ให้ต่ำลงไป เพราะถ้าต่ำเกินไปก็จะลำบาก…”

นักข่าวถาม การขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำมาก นายกรัฐมนตรีมีความกังวลอย่างไรบ้าง คำตอบคือ “ต่ำมากครับ ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ผมก็ฝากไว้”

“ต่ำมาก น้อยมาก ต่ำกว่า Minimun อีก พิจารณาเรื่องลดอัตราดอกเบี้ย ก็ฝากไว้”

นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของแบงก์ชาติ

แต่ไม่มีสิทธิ์ใช้ประชาชนมาข่มขู่ให้ต้องตัดสินใจตามที่รัฐบาลต้องการ

มาวานนี้ (๑๐ มกราคม) ผู้ว่าเศรษฐพุฒิ เข้าพบ นายกฯ เศรษฐา ที่ทำเนียบรัฐบาล

จากนั้น นายกฯ เศรษฐา ให้สัมภาษณ์

“…ผมไม่มีอำนาจในการไปก้าวก่ายท่าน เพราะแบงก์ชาติก็เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ พูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้ไปสั่งหรืออะไร เพียงแค่อธิบายเหตุผลให้ฟังในเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวม ในแง่ของเหตุการณ์ต่างประเทศ สถานการณ์ของเงินเฟ้อทั้งหมด ก็พยายามพูดคุยกัน…”

นักข่าวถาม เงินเฟ้อติดลบ ทางผู้ว่าฯ ธปท.ให้ความเห็นอย่างไรบ้าง

คำตอบคือ “…เดี๋ยวให้ทางแบงก์ชาติเป็นคนแถลงเองดีกว่า ผมให้เกียรติท่าน เราพูดคุยกันเกี่ยวกับหัวข้อใหญ่ๆ มากกว่า…”

“…ผมคิดว่าแนวโน้มที่ดีอยู่ที่ใครมองอย่างไร อะไรคือแนวโน้มที่ดี แนวโน้มที่ดีคือ ต้องมีการพูดคุยกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน…”

นี่ก็หลังเท้าเป็นหน้ามือ

คงเพราะได้ข้อมูลที่แท้จริงจาก ผู้ว่าแบงก์ชาตินั่นเอง

ตามตำรา ระบุความสัมพันธ์ระหว่างดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ เอาไว้ว่า ในยามที่เศรษฐกิจร้อนแรง คนต้องการบริโภคและลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น

แต่ถ้ารายได้ยังคงเดิม จะทำให้คนซื้อของได้น้อยลงและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่

แบงก์ชาติ มีหน้าที่หลักในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา โดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน

เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์รู้ว่าแบงก์ชาติ ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับสูงขึ้น

แบงก์ชาติ จะดูดซับสภาพคล่องหรือดูดเงินออกจากระบบการเงินเพื่อให้ภาวะการเงินตึงตัว

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะต้องเพิ่มสภาพคล่องของตนเอง โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้นเพื่อระดมเงินฝากมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามต้นทุนเงินฝากที่สูงขึ้น

การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้นจะจูงใจให้คนมาฝากเงินมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นก็ทำให้คนกู้เงินน้อยลง เมื่อความต้องการสินค้าและบริการลดลง จะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าลดลง และชะลอเงินเฟ้อ

กลับกัน หากเศรษฐกิจซบเซา ประชาชนไม่อยากใช้จ่าย ราคาสินค้าและบริการปรับลดลง ทำให้ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนบริโภคและลงทุนมากขึ้น

เมื่อความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้ระดับราคาปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

แล้วทำไมคราวนี้ผู้ว่าแบงก์ชาติถึงตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย แทนที่จะลด

ล่าสุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพิ่มอีก ๐.๒๕%

ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ ๒.๒๕% สูงสุดในรอบ ๙ ปี

แบงก์ชาติดูเศรษฐกิจเชื่อมโยงทั้งโลก

แต่นักการเมืองมักมองขาเดียวคือ เศรษฐกิจชาวบ้านเพื่อเอาใจประชาชน มีวัตถุประสงค์ด้านคะแนนเสียงเป็นหลัก

ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นรอง

ปัญหาเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึกมักมาจาก การตัดสินใจของนักการเมือง โดยอ้างว่าทำเพื่อประชาชน

สุดท้ายนำมาซึ่งความผิดพลาด

แล้วข้อมูลอะไรที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ แจกแจงแล้ว ทำให้นายกฯ มีความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมมากขึ้น

หลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่อาจแก้ตามตำราได้

ต้องพลิกแพลง เพราะมีปัจจัยอยู่เหนือการควบคุมมากมาย

หากพูดเรื่องอัตราดอกเบี้ย ก็ต้องพูดอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก

ต้องดูว่าฝั่งยุโรป อเมริกา เขาไปถึงไหนแล้ว

โดยเฉพาะอเมริกา

ปีที่แล้ว อเมริกา ปรับอัตราดอกเบี้ยจาก ๐.๒๕% หลายครั้งจนมาอยู่ที่ ๕.๕%

สูงสุดในรอบ ๒๒ ปี

ส่วนไทยอยู่ที่ ๒.๒๕%

หากไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามสูตร ลองคิดดูว่าระยะห่างของดอกเบี้ยระหว่างไทยกับอเมริกา ที่จะห่างไปเรื่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้น

เอาง่ายๆ แบงก์ ก.ให้ดอกเบี้ย ๕.๕% แบงก์ ข.ให้ดอกเบี้ย ๒.๒๕% คนจะแห่ไปฝากแบงก์ไหน

แบงก์ ข.เจ๊งครับ

เลือดไหลหมดตัว

เงินไปแบงก์ ก.หมด

แต่เรากำลังพูดถึงประเทศ

เงินไหลออกมากๆ คือหายนะทางเศรษฐกิจไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ค่าเงินก็จะมีปัญหาตามมา

ดอลลาร์แข็งเอาๆ ส่วนบาทก็รูดลงเรื่อยๆ

ลองคิดดูครับ เงินสกุลดอลลาร์แข็งโดยตัวมันเองอยู่แล้ว หากช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยยิ่งห่างขึ้นเรื่อยๆ เงินบาทจะไปเหลืออะไร

สินค้านำเข้า โดยเฉพาะน้ำมันจะแพงขึ้น

ทีนี้เงินเฟ้อหนักกว่าเดิม

คิดว่านายกฯ เศรษฐา คงเข้าใจ

และคงจะคิดได้เพิ่มเติมว่า เงิน ๕ แสนล้านที่จะกู้นั้น มีความหมายต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มากกว่าเอาไปแจกประชาชนแล้วหายวับไปกับตา

แต่ถ้ายังคิดอะไรไม่ได้ ไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง

รอเผาอย่างเดียว

Written By
More from pp
วันนี้อยากจะขอเล่า เรื่องสัพเพเหระเป็นปกิณกะแต่มีสาระ ให้ชวนคิดและไม่มองข้ามไป
ดำรง พุฒตาล เล่าผ่านไลน์ เรื่องเล่าวันนี้ได้มาจากการที่ผมไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี บังเอิญไปก่อนเวลานัด จึงไปเดินฆ่าเวลาในตลาดนัด ซึ่งเปิดทุกวันในบริเวณโรงพยาบาลรามาฯ
Read More
0 replies on “ให้บทเรียนนายกฯ – ผักกาดหอม”