อาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ แนะใช้ถังดับเพลิงให้ถูกประเภท ลดเสี่ยงระเบิดได้เกือบ 100%

ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ ถังดับเพลิงระเบิดใส่เด็กนักเรียนจนเสียชีวิตที่เกิดขึ้น อยากให้ผู้ใช้ถังดับเพลิงไม่ตื่นตระหนก และมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของถังดับเพลิง เพราะถ้าหากใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับเชื้อเพลิงหรือสถานที่นั้น จะลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุระเบิดได้อย่างมาก รวมถึงช่วยลดผลกระทบหรือความสกปรกที่เกิดขึ้นจากการดับเพลิงอีกทางหนึ่งด้วย

ลำดับแรกที่สำคัญ คือ การเลือกใช้ถังดับเพลิงให้ถูกประเภท ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของถังดับเพลิง โดยปกติแล้วถังดับเพลิงจะแบ่งประเภทตามการใช้งาน หรือชนิดของไฟ ประกอบไปด้วย 6 ประเภท รวมถึงจะมีแถบสีที่แสดงให้ผู้ใช้ได้สังเกตเห็น

  • ใช้ดับเพลิงทั่วไป
  • ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากน้ำมัน
  • ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากแก๊ซ
  • ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากโลหะ
  • ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
  • ใช้ดับเพลิงที่เกิดจากอาหารและไขมัน

ผู้ใช้ถังดับเพลิง ควรเลือกถังดับเพลิงที่เหมาะสำหรับกับชนิดของไฟหรือเชื้อเพลิงภายในอาคารสถานที่ (Type of Fire) / ประสิทธิภาพการดับไฟ (Fire rating) รวมถึงพิจารณาความดันของถังดับเพลิงแต่ละชนิดที่สูงต่ำแตกต่างกัน (Pressure) ยกตัวอย่างเช่น ถังดับเพลิงชนิด CO2 จะมีแถบสีดำ เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพลิงพวกน้ำมัน (Flammable liquids) และความดันสูงมากกว่าถังดับเพลิงแบบอื่นๆ เป็นต้น โดยปกติแล้ว อาคารบ้านเรือนต่างๆ โรงเรียน โรงพยาบาล มักใช้งานถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม (Foam extinguishers) ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water extinguishers) ซึ่งมีความดันภายในถังต่ำ (อยู่ในช่วง 12-15 บาร์) จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์ระเบิดเหมือนเหตุการณ์ดังกล่าว

แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามข้อมูลพบว่าใช้ถังดับเพลิงประเภท CO2 ซึ่งเหมาะกับการจัดการกับเชื้อเพลิงพวกน้ำมัน และใช้งานกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์ และมีข้อดีคือ ลดผลกระทบหรือความสกปรกจากการดับเพลิง ทั้งนี้ ถังดับเพลิงแบบ CO2 จะมีความดันภายในถังสูงกว่า 55 บาร์ (เพื่ออัดให้ก๊าซ CO2 อยู่ในเฟสของเหลวภายในถัง) มาใช้สาธิตให้กับนักเรียนดูซึ่งอาจไม่ตรงกับเชื้อเพลิงหรือต้นเหตุความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ภายในโรงเรียน จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ระเบิดจากแรงดันบรรจุที่ค่อนข้างสูงภายในถัง นอกจากนี้ เมื่อการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรมสาธิตก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เหมือนกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อติดตั้งถังดับเพลิงภายในอาคารสำนักงาน (Office / Server room) ที่จะมีขั้นตอนการตรวจสอบและบำรุงรักษาที่ชัดเจน

อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงแนะนำวิธีการป้องกันถังดับเพลิงไม่ให้ระเบิดได้ 100% ดังนี้

1. บำรุงรักษาตามวงรอบ (อย่างน้อย 6 เดือนครั้ง) ลดความเสี่ยงระเบิดได้ 50% โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับถังดับเพลิงที่มีความดันบรรจุภายในสูง

2. ใช้ถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับชนิดของไฟหรือเชื้อเพลิง และสถานที่ ลดความเสี่ยงระเบิดได้ 25% เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้งานถังความดันสูงโดยไม่จำเป็น

3. อบรมการใช้งาน ให้กับผู้ปฏิบัติงาน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาและตรวจสอบแรงดันหรือความเป็นไปได้ในการรั่วไหลของสารดับเพลิงภายในถัง ลดความเสี่ยงระเบิดได้ 25%

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ ยังระบุอีกด้วยว่าไม่อยากให้ประชาชนผู้ใช้ถังดับเพลิงเกิดการวิตกจนเกิดเหตุ เนื่องจากถังดับเพลิงที่ใช้ตามอาคารและใช้ขายทั่วไปนั้นค่อนข้างมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ทำการสาธิต และใช้ถังดับเพลิงเก่าที่มีอายุการใช้งานนาน ทำให้มีข้อจำกัดในการรับแรงดันได้ ทั้งนี้อยากให้ประชาชน โดยเฉพาะท่านที่อาศัยในอาคารสูง หรือสถานประกอบการต่างๆ ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ ติดตั้ง ตรวจสอบ และการฝึกปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยง และดับเพลิงได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามหลักการวิศวกรรมระบบอาคาร

Written By
More from pp
กรมการแพทย์ เตือน ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง อาการที่ไม่ควรมองข้าม
กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง (Writer’s cramp) อาการเกร็งที่กล้ามเนื้อมือและแขนเมื่อเขียนหนังสือ และเขียนได้ช้าลง อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น แนะควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
Read More
0 replies on “อาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ แนะใช้ถังดับเพลิงให้ถูกประเภท ลดเสี่ยงระเบิดได้เกือบ 100%”