ผักกาดหอม
มาเร็วกว่าที่คิด
ประเทศไทยกำลังจะไม่เหมือนเดิมจริงๆ แล้วสิครับ
เหตุการณ์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน กำลังเตือนให้เรารู้ว่า “การแบ่งแยกดินแดน” ได้ก่อตัวขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว
เดิมทีมีเพียงกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง สร้างสถานการณ์ ติดป้าย พ่นสี ข้อความแยกดินแดนไปทั่ว ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ “การแบ่งแยกดินแดน” เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในมหาวิทยาลัยอย่างเปิดเผย โดยนักวิชาการ นักศึกษา และนักการเมือง
องค์กรที่จัดชื่อว่า ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ หรือ เปลาจาร์ บังซา (Pelajar Bangsa) นำโดย นายอิรฟาน อูมา ดำรงตำแหน่งประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ
ในงานมีการแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดย รศ.ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่
“มารค” บอกว่า “การกำหนดอนาคตตนเอง” (Self-Determination) เป็นหลักการสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาประชาธิปไตย”
เสร็จแล้วเป็นการเสวนาหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี”
ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ
นายฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม
นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเดอะปาตานี (The Patani)
๓ คนนี้เป็นผู้ร่วมเสวนา
ขณะที่นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล งดร่วมงานกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ
ไปดูว่าผู้ร่วมเสวนาคิดอย่างไร
“ฮากิม พงตีกอ” มองว่า สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือ RSD (Right to Self-determination) เป็นสิทธิเสรีภาพในการที่จะเลือกมาเป็นหลักการการดำเนินประเด็นทางการเมือง
“อาเต็ฟ โซ๊ะโก” ชี้ว่า เมื่อเราถือหลักที่สอดคล้องกับ RSD เป็นกระบวนการที่ยอมรับตามหลักสากล นำไปสู่การประชามติ ซึ่งไม่ว่าผลของการประชามติจะออกมาอย่างไร เราก็ควรที่จะยอมรับ และจะไม่มีคำว่าแพ้เกิดขึ้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนเลือก
“วรวิทย์ บารู” บอกว่า กระบวนยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย เพราะถ้าเราอยากได้ความเป็นธรรม เราก็ต้องเป็นที่จะให้ความเป็นธรรมนั้นแก่คนอื่น เพราะบางคนเรียกร้องถึงความเป็นธรรม แต่กลับอธรรมกับสิ่งที่ตนเองยึดถือหรือหลักศรัทธา นักศึกษา นักการเมือง และองค์กรภาคประชาสังคม มีสิทธิและเห็นควรที่จะผลักดันกระบวนการ RSD เพื่อเลือกที่จะกำหนดอนาคตตนเอง เพราะเป็นเรื่องของวิชาการและเป็นที่ยอมรับตามหลักสากล
ไฮไลต์ของงานมีการแจกบัตรกระดาษระบุหัวข้อว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”
มีหมายเหตุด้านล่างระบุ “ให้กับชาวปาตานี : ผู้ที่ลงทะเบียนว่า “อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานีหรือ จ.นราธิวาส, จ.ปัตตานี, จ.ยะลา และ จ.สงขลา (เฉพาะ อ.จะนะ, อ.นาทวี, อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย)”
เอากันตรงๆ แบบนี้เลยครับ
ผู้ร่วมเสวนาจะรู้เห็นหรือไม่ คงไม่สำคัญเท่า เห็นหัวข้อเสวนา “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” แล้วคิดอย่างไร
รูปแบบของบัตร ไม่ต่างจากติดสติกเกอร์ ยกเลิก ม.๑๑๒ หรือแก้ไข ม.๑๑๒ ที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ติดช่อง ยกเลิก ม.๑๑๒
ครับ…ดูเหมือนจะเป็นการก่อตัวในหลายทิศทาง เพื่อเปลี่ยนประเทศไทย จนไม่เหลือเค้าเดิม
การจุดประเด็นใหม่ๆ ที่แหลมคมให้สังคมได้พูดอย่างเปิดเผยขึ้น ถือเป็นความสำเร็จในช่วงเริ่มต้น
ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก ม.๑๑๒ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การแบ่งแยกดินแดน ล้วนเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไทย
แต่การไปถึงจุดนั้นได้ ต้องมีอำนาจเสียก่อน
มีอำนาจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีประชาชนมากพอที่จะพิงหลังได้ด้วย
เพราะประเด็นเหล่านี้ไม่ได้สร้างความขัดแย้งธรรมดาๆ
แต่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองได้ไม่ยาก
ฉะนั้น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า มีความรับผิดมากชอบพอที่มุ่งหน้าไปสู่จุดนั้นหรือไม่
มันไม่ใช่คำขู่!
แต่อะไรก็ตามที่ประชาชนยังเห็นแตกต่างกันสุดขั้ว หากดันทุรังจะหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ยาก
ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้เปลี่ยนแปลงได้เสมอ การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติจะเกิดขึ้นเมื่อสังคมตกผลึกร่วมกัน
นี่คือสิ่งที่นักการเมืองในพรรคก้าวไกลต้องเอามาใส่ในหัวใจตนเอง
นโยบาย ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคก้าวไกล มีชื่อเท่ๆ ว่า ข้อเสนอเพื่อสร้างสันติสุขก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล
ยืนบน ๓ หลักการ เรียกว่า “3D” ประกอบด้วย
Democratization การสร้างประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นจากคนทุกคนเท่ากัน อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน
Demilitarization เอาทหารออกจากการเมือง การแก้ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ต้องนำโดยพลเรือน เลิกใช้กฎหมายที่เป็นวิธีคิดแบบทหาร เปลี่ยนเป็นมองความมั่นคงของประชาชนเท่ากับความมั่นคงของชาติ
Decentralization คือกระจายอำนาจ ยกเลิกโครงสร้างรัฐรวมศูนย์ เอาอำนาจและงบประมาณมาอยู่ที่ท้องถิ่น มีอำนาจตัดสินใจออกแบบสังคมที่รองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
นโยบายสวยหรูนี้ ระวังจะซ้ำรอยยุคทักษิณ ที่สั่งยุบทิ้ง “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ศอ.บต.) และ “กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ ๔๓” (พตท.๔๓)
หลังปี ๒๕๔๗ ไฟใต้จึงลุกโชน เพราะทักษิณคิดว่าตัวเองเก่ง กลับกลายเป็นเข้าทางกลุ่มก่อความไม่สงบ
ก่อน “พิธา” จะมีอำนาจ ต้องผ่านด่านวุฒิสภาให้ได้เสียก่อน
อย่างที่บอกไปวานนี้ ปมหุ้น ITV กลายเป็นประเด็นรอง เพราะเมื่อเทียบกับกรณีหุ้นธนาธร นับจาก กกต.เรียกหลักฐานไปจนถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใช้เวลาร่วม ๓ เดือน
แต่หุ้น ITV ของ “พิธา” ขณะนี้ กกต.ยังไม่ได้พิจารณาใดๆ ทั้งสิ้น
ฉะนั้นมีแนวโน้มสูงว่า ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ จะเสร็จสิ้นก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีหุ้น ITV
สถานการณ์ในขณะนี้ “พิธา” กำลังถูกอุ้มเข้าสู่แดนสังหาร ด้วยความเลือดเย็นของพรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทย และครอบครัวเพื่อไทย ทุ่มสุดตัวในการเล่นบทอุ้ม “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกฯ
“อุ๊งอิ๊ง-ชลน่าน” ตีบทแตกจน “ด้อมส้ม” เริ่มเชื่อแล้วว่า ๘ พรรคตั้งรัฐบาลได้แน่นอน
รู้ตัวอีกทีในวันโหวตนายกฯ เกมเปลี่ยน
ถึงวันนั้นด่าเพื่อไทยไม่ได้ เพราะเพื่อไทยไม่ใช่คนเปลี่ยนเกม
แค่มีผลประโยชน์ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา และพรรคการเมืองอันดับรองลงมาเท่านั้น