10 มีนาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 (Gig Worker) หลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ สาขาการประกอบขนมอบ
โดยมี นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลพะตง ร่วมให้การต้อนรับ นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ณ หอประชุมโรงเรียนวัดควนเนียง ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
นายสุรชัย กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีทักษะฝีมือ มีงานทำ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
กระทรวงแรงงาน โดยท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้ลงทะเบียนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บัตรลุงตู่” เพื่อฝึกอาชีพยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ให้มีมาตรฐาน และมอบเครื่องมือทำกินให้หลังฝึกจบ เพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้มากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในวันนี้ รมว.แรงงาน จึงได้มอบหมายให้ผมลงพื้นที่มามอบวุฒิบัตรพบปะให้กำลังใจแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งผู้ประกอบ“อาชีพอิสระ” หรือ “แรงงานนอกระบบ” หรือเรียกว่า Gig Worker คือ คนที่ทำงานในรูปแบบงานชั่วคราว งานที่รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นจบเป็นครั้งๆ ไป ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง
เช่น งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ ซึ่งแรงงานเหล่านี้ยังขาดการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ จำเป็นต้องได้รับการยกระดับ ทักษะฝีมือ เพื่อเพิ่มความรู้ ความสามารถ มีงาน มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง และยั่งยืน
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระ 4.0 (Gig Worker) ที่จังหวัดสงขลา จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะพื้นฐานให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ/มาตรฐานฝีมือ
เพื่อจัดหาและสนับสนุนเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก ชุดเครื่องมือทำมาหากิน ให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีเป้าหมายดำเนินการ 600 คน รวม 30 รุ่น ระยะเวลาการฝึกหลักสูตรละ 30 ชั่วโมง อาทิ หลักสูตรการประกอบอาหารไทย การประกอบอาหารฮาลาล การประกอบขนมอบ การบำรุงรักษาเครื่องจักรกลทางการเกษตร เป็นต้น
“โครงการนี้มีเป้าหมายดำเนินการฝึกอาชีพให้กับผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่น้อยกว่า 30,000 คน ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ มีทักษะอาชีพพื้นฐานให้ได้รับการช่วยเหลือ เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน มุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ที่มีผลิตภาพและ รายได้สูงขึ้น ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงานตามบริบทของพื้นที่ และทิศทางการพัฒนาประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งการให้คำแนะนำด้านการประกอบอาชีพอีกด้วย” นายสุรชัย กล่าวทิ้งท้าย