10 มีนาคม 2566 นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งคำถามเรื่อง “ภูมิใจไทยพักหนี้ ใครแบกภาระ?” ว่า
นโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ย รายละไม่เกิน 1ล้านบาท เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่เห็นว่าประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากคนจนที่เป็นหนี้เป็นสินมีความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด และอุทกภัย จึงต้องการให้ประชาชนหยุดพักหายใจบ้าง ผ่อนแรง มีโอกาสในการฟื้นตัวเองเพื่อทำมาหากิน ได้อย่างสะดวกมากขึ้น ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้ประชาชน
“อันที่จริง คุณธีระชัย น่าจะเข้าใจเรื่องนี้เพราะตอนที่คุณธีระชัยเคยทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน 56 ไฟแนนซ์ล้ม ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เข้ามารับประกันผู้ฝากเงินทุกบัญชี ก็ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน แต่นโยบายของภูมิใจไทยไม่ได้ทำแบบมักง่ายแบบนั้น
กล่าวคือเงินที่นำมาเพื่อการนี้นำมาจากพันธบัตรรัฐบาลที่นำออกมาจำหน่ายให้กับประชาชนผู้มีกำลังแทนที่จะฝากกับธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำมาซื้อพันธบัตรที่มีผลตอบแทนสูงกว่ามาก ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่งการที่มีนโยบายนี้ออกมาก็เป็นการสร้างการบริโภคของประชาชนที่มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
นายศุภชัย กล่าวว่า คุณธีระชัยน่าจะเห็นใจประชาชน ที่ประสบปัญหาวิกฤติ เดือดร้อน ทุกๆ นโยบาย ของภาครัฐที่ออกมา เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องออกมารับภาระเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเดินหน้า แก้ปัญหาให้ประชาชน ได้ทำมาหากิน ถามว่า หนี้ ขสมก. 1.3 แสนล้าน รัฐบาลทำไมต้องเข้ามารับภาระหนี้ เพราะ ขสมก. เป็นการเดินทางของคนยากคนจน รัฐจึงต้องรับภาระโอบอุ้ม ในโครงการจำนำข้าว แทรกแซงราคาสินค้าเกษตร รัฐรับภาระทั้งนั้น ก็เพราะรัฐต้องดูแลเกษตรกร ซึ่งก็ต้องใช้ภาษีประชาชน ทั้งหมด เหมือนกัน เพราะหน้าที่รัฐคือต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นจึงไม่น่าจะมาตั้งคำถาม”
พรรคภูมิใจไทย เชื่อว่า การพักหนี้เป็นมาตรการที่เหมาะสม แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน มีเงินหมุนเวียนในระบบ กำลังซื้อเพิ่มขึ้น รัฐมีรายได้จากภาษีต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชน ว่าจะมีความต้องการหรือไม่ ถ้าประชาชนเลือกพรรคภูมิใจมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราจะคลี่คลายปัญหาประชาชน เราเดินหน้าทำแน่นอน เพราะเราพูดแล้วทำ