หลังการประกาศผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (The Bureau International des Expositions) หรือ BIE ว่าประเทศไทยผ่านการพิจารณาเข้าสู่การนำเสนอรอบที่ 2 (Country Presentation) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
โดยจังหวัดภูเก็ต ทีเส็บ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมการนำเสนอวิสัยทัศน์ของประเทศ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand
ซึ่งกว่าที่เราจะผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายนี้ ทีเส็บ และคณะทำงานต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง? มาขยายความเรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้ผ่านไทม์ไลน์การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2027/2028 ในครั้งนี้กัน
ทีเส็บประสานงานกับจังหวัดภูเก็ต และทุกภาคส่วน เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ
จังหวัดภูเก็ต ทีเส็บ กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดอันดามัน จับมือร่วมกันนำเสนอให้ไทยเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 Phuket Thailand ผ่านการประชุมครม.สัญจรเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564
ครม. มีมติอนุมัติในหลักการกรอบวงเงินงบประมาณ
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข ทีเส็บ จังหวัดภูเก็ต กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมการรองรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 Phuket Thailand ในครั้งนี้
การยื่น Letter of Candidature หรือหนังสือแสดงเจตน์จำนงค์
โดยเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีสได้ยื่น Letter of Candidature ต่อเลขาธิการของทาง BIE เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 เดินหน้าวางแผนพัฒนาพื้นที่จัดงาน และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นตัวแทนเจ้าภาพงาน Expo 2028 Phuket Thailand อย่างเต็มตัว
นำส่งเอกสารทางเทคนิค (Bid Dossier)
โดยมี ทีเส็บ หน่วยงานที่ดูแลการยื่นสิทธิ์ของงานนี้ ได้นำส่งเอกสารทางเทคนิค (Bid Dossier) พร้อมแพ็กเกจสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาให้กับ BIE เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565
Bid Dossier คืออะไร? สำหรับการนำส่งเอกสารทางเทคนิค หรือเรียกว่า Bid Dossier นั้น เป็นอีกหนึ่งเกณฑ์การตัดสินของ BIE ซึ่งประกอบไปด้วยรายละเอียดพื้นที่ ที่จะใช้จัดงาน ธีมของการจัดงาน ความหมายของโลโก้ การใช้พื้นที่หลังการจัดงาน และรายละเอียดภาพรวมของเมืองที่จัดงาน เป็นต้น
ส่วนแพ็กเกจสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นกลไกที่ BIE ต้องการให้ประเทศที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาได้มีโอกาสมาร่วมแสดงนิทรรศการในงาน ซึ่งจะมีความสำคัญในช่วงการตัดสินในรอบสุดท้าย ในกรณีที่ตัวแทนเจ้าภาพ 2 ประเทศสุดท้ายคะแนนเท่ากัน BIE จะใช้หลักเกณฑ์ข้อนี้มาพิจารณาตัดสินการเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง
รอบแรกของการนำเสนอการเป็นตัวแทนเจ้าภาพจัดงาน และเลี้ยงรับรองคณะกรรมการ 170 ประเทศ
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมนำเสนอประเทศไทย (Country Presentation) ต่อที่ประชุมสามัญประจำปีของ BIE ซึ่งไทยนำเสนอเป็นประเทศแรก ตามด้วยประเทศคู่แข่ง
หลังจากการนำเสนอเสร็จสิ้น รองนายกรัฐมนตรี และทีมไทย ได้เป็นเจ้าภาพงาน “Phuket Night in Paris” ณ อควาเรียม ใจกลางกรุงปารีส เลี้ยงรับรองแก่คณะผู้แทนถาวรประจำ BIE จำนวน 170 ประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกของ BIE เพื่อที่จะแสดงความพร้อมและความโดดเด่นในเรื่องของเนื้อหาของการจัดงาน นำเสนอข้อมูลของจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งยังแสดงถึงวัฒนธรรมที่งดงาม อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย
BIE สำรวจพื้นที่การจัดงาน (Enquiry Mission)
หลังจากได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของประเทศครั้งแรกไปแล้ว อีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญของกระบวนการประมูลสิทธิ์คือการสำรวจพื้นที่การจัดงานในเชิงลึก และเมื่อวันที่ 24-30 ก.ค. 2565 คณะกรรมการจาก BIE ทั้ง 9 ท่าน ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่จัดงานจริง เพื่อพิจารณาความพร้อมทุกด้าน และความเป็นไปได้หากได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ
รวมถึงประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมในระดับประเทศ และระดับจังหวัดสำหรับการรองรับการจัดงานครั้งนี้
ซึ่งการพิจารณาประเด็นสำคัญ คือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภายหลังการจัดงาน ซึ่งเป็นพื้นที่ในโครงการศูนย์การแพทย์ และสุขภาพนานาชาติ เพื่อการพักฟื้นฟูสุขภาพระดับพรีเมียม รวมถึงศูนย์ประชุมนานาชาติ สวนสาธารณะเพื่อสุขภาพ การบำบัดโรค และแหล่งเรียนรู้ทางนิเวศวิทยา ซึ่งงานนี้คณะกรรมการของ BIE ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากตัวแทนประเทศไทยทั้งรัฐบาลไทย ทีเส็บ และจังหวัดภูเก็ต
Thailand 2nd Country Presentation
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 จังหวัดภูเก็ต ทีเส็บ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการนำเสนอวิสัยทัศน์ของประเทศครั้งที่ 2 (Country Presentation) ต่อประเทศสมาชิก BIE ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยกับการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน
การนำเสนอเริ่มต้นด้วยวีดิทัศน์นำเสนอสาสน์จาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในนามรัฐบาลไทย ที่พร้อมจะเป็นเวทีโลก สร้างความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติผ่านการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand
ต่อด้วยวิสัยทัศน์จาก “น้องกานพลู” หรือ ด.ญ.อัญช์ณฎา ลักขณา เยาวชนชาวภูเก็ตอายุเพียง 12 ปี ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่สอดคล้องกับธีม Future of Life เพื่อเชื่อมโยงคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ ที่จะก้าวมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้น
หลังจากนั้น นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ได้เน้นย้ำความสำคัญของการจัดงานภายใต้แนวคิด Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity ที่ให้ความสำคัญกับ ผู้คน (People) โลก (Planet) และความรุ่งเรือง (Prosperity) ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ในส่วนการออกแบบพื้นที่ของงาน นายยศพล บุญสม ผู้แทนทีมสถาปนิกนำเสนอการออกแบบภายใต้แนวคิด “Flow of Nature” ที่จะคงพื้นที่สีเขียวของพื้นที่ พร้อมกับการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติในการพัฒนาพื้นที่ไปสู่การจัดงาน Specialised Expo เพื่อเป็นต้นแบบของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Neutral Pilot Project
และปิดท้าย ด้วยนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ที่ให้ความมั่นใจว่าการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand จะสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่ประชาคมโลก และจะเป็นเวทีสำคัญเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างความร่วมมือระดับนโยบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป
การดำเนินการหาเสียง แลกเสียง
เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการนำเสนอตัวเป็นตัวแทนเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ นำโดยกระทรวงการต่างประเทศที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และดำเนินการหาเสียง แลกเสียงต่อประเทศสมาชิก BIE ทั่วโลกผ่านการดำเนินการทางการทูต
นอกจากนี้ ทาง BIE ได้เปิดโอกาสให้ทั้ง 5 ประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน สามารถจัด Symposia ในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. 2566 ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดการจัดงานผ่านการจัดสัมมนาย่อยให้กับกรรมการผู้ตัดสินทั้ง 170 ประเทศได้รับทราบ
สู่การประกาศผลประเทศที่ได้รับการเลือกเป็นเจ้าภาพ Specialised Expo 2027/2028
ประเทศสมาชิกทั้ง 170 ประเทศ คือ ผู้ตัดสินว่าประเทศใดที่เหมาะสมกับการเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ โดยจะมีการประกาศผลในการประชุมสามัญประจำปีของ BIE ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ช่วงเดือน มิ.ย. 2566 นี้ และหากจังหวัดภูเก็ตได้รับสิทธิ์จะถือเป็นเมืองแรกในอาเซียนและเอเชียใต้ที่ได้จัดงานเอ็กซ์โประดับโลก
ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกกว่า 4.9 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศระหว่างการจัดงานประมาณ 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
รวมถึงผลักดันการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับนานาชาติ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก เป็นการแสดงศักยภาพของไทยที่พร้อมจะเป็นปลายทางของการจัดงานไมซ์ระดับโลกด้วยเช่นกัน