แพทย์-นักวิชาการ แนะวิธีลดเสี่ยง ฟอร์มาลีนในอาหาร เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค

หลังจากที่กรมปศุสัตว์ตรวจพบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์รายใหญ่ในจังหวัดชลบุรี ลอบผลิตโดยไม่มีใบอนุญาตผลิตอาหารและใบอนุญาตค้าซากสัตว์ และพบการใช้สารฟอร์มาลีนในการแช่เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ อีกทั้งยังพบใบเสร็จส่งขายร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสาน ซึ่งจากสารฟอร์มาลีน เป็นสารอันตรายต้องห้ามและอาจถึงกับเสียชีวิตได้

ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แพทย์และนักวิชาการ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นและให้ความรู้ถึงอันตรายแก่ประชาชน พร้อมแนะนำวิธีการเลือกร้านอาหารและเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัย

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เตือนผู้ประกอบการให้ระวังการนำวัตถุดิบที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าวมาจำหน่าย เนื่องจากสารฟอร์มาลีนถูกนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลีน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิตจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ หากพบการกระทำผิด จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ขอแนะนำประชาชนที่นิยมกินอาหารนอกบ้าน ก่อนกินเนื้อหมู เนื้อวัว หรืออาหารทะเลทุกครั้ง ควรสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรบริโภค แต่หากไม่มั่นใจในร้านอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน

ควรเลือกปรุงประกอบอาหารเอง โดยเลือกซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย และให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงการกินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ สหภูมิ ศรีสุมะ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อทานอาหารที่มีส่วนผสมของฟอร์มาลีน จะส่งผลเสียต่อร่างกายมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณ

ซึ่งจริงๆ แค่ได้กลิ่นก็จะมีอาการฉุน แสบคอ เกิดอาการผิดปกติต่อระบบทางเดินหายใจได้แล้ว บางคนทานเข้าไปจนเกิดอาเจียน เสียเลือดมากถึงขั้นเสียชีวิต เพราะทางเดินอาหารเกิดการไหม้จากสารฟอร์มาลีนที่มีความเป็นกรด หรือเมื่อได้รับในปริมาณที่เข้มข้นก็จะทำให้เลือดเป็นกรด เกิดภาวะช็อก ความดันตก และอาจถึงแก่เสียชีวิต

ส่วนวิธีสังเกตในการเลือกซื้ออาหารสด หรือตรวจสอบว่ามีสารฟอร์มาลีนหรือไม่ เบื้องต้นให้ดูว่าร้านอาหารนั้นๆ มีกลิ่นฉุนของสารเคมีแปลกๆ หรือเปล่า โดยเฉพาะอาหารทะเล และเนื้อสัตว์ อย่างปลาหมึก แมงกะพรุน ปลาหมึกกรอบ สไบนาง และเล็บมือนาง

เพราะอาหารเหล่านี้เน่าเสียง่าย โดยสังเกตเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลแต่มีทั้งส่วนที่แข็งสด และมีส่วนที่เปื่อยยุ่ยในชิ้นเดียวกัน แสดงว่าต้องมีการแช่ฟอร์มาลีนแน่นอน ห้ามซื้อมาบริโภค เพราะหากเป็นอาหารสดต้องสดเสมอกัน อีกวิธีคือใช้ชุดตรวจสารฟอร์มาลีนในอาหาร เมื่อทำครบตามขั้นตอนผลที่ได้ คือน้ำจะมีสีชมพูแดง แสดงว่าอาหารนั้นมีสารฟอร์มาลีน ก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารอันตรายได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ ‘อ.อ๊อด’ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะนำวิธีสังเกตอาหารที่มักพบสารฟอร์มาลีนปนเปื้อน ได้แก่อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ ง่ายๆ หากเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ

ส่วนอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ ส่วนผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผลหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่ามีฟอร์มาลีนปนเปื้อน เมื่อซื้ออาหารมาแล้ว ควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลีนทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้

อีกข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค ในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย คือการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือมีมาตรฐาน ตรวจสอบย้อนกลับได้ สังเกตป้ายสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งเป็นมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์และความปลอดภัยของผู้บริโภคที่กรมปศุสัตว์รับรองให้กับสถานที่จำหน่ายสินค้า

โดยครอบคลุมตลอดกระบวนผลิต ตั้งแต่ระบบการเลี้ยงสัตว์ต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) โรงฆ่าที่ถูกกฎหมายกระบวนการฆ่าสัตว์ถูกสุขลักษณะ โรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐาน และสถานที่จำหน่ายถูกสุขอนามัย เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน โครงการนี้เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ และมาตรฐานความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าได้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

Written By
More from pp
ชี้ชะตาด้วย “วัคซีน” – ผักกาดหอม
ผักกาดหอม ต้องเดินหน้าต่อไปครับ….                 ถูกต้องแล้วที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการเปิดภูเก็ต และพื้นที่เกาะสมุย พะงัน เกาะเต่า ตามที่ ศบค.เสนอ
Read More
0 replies on “แพทย์-นักวิชาการ แนะวิธีลดเสี่ยง ฟอร์มาลีนในอาหาร เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค”