ผักกาดหอม
เตรียมตัวให้พร้อม
ปิดฉากสูตร ๕๐๐ ไปอย่างถาวรแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
หลังจากวันที่กฎหมายฉับนี้บังคับใช้ การยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ชัดเจนสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็ก โอกาสสูญพันธุ์มีสูงมาก
โดยเฉพาะส.ส.ที่ได้เข้าสภาในการเลือกตั้งคราวที่แล้วด้วยการ “ปัดเศษ”
ต่อไปนี้ไม่มีเศษให้ปัด
ฉะนั้นการย้ายพรรคหลังจากนี้จะเข้มข้นขึ้นอีก
“คุณหมอระวี มาศฉมาดล” คนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยอมรับสภาพ ออกปากเชิญชวนพรรคเล็กด้วยกัน “รวมพรรค” ก่อนตายหมู่
“…สำหรับพรรคเล็กอาจจะมีบางส่วนที่มีการยุบพรรคเพื่อไปควบรวมกัน หรือบางพรรคอาจจะสู้ต่อ โดยเมื่อจบการเลือกตั้งในปีหน้าก็คงมีพรรคเล็กหลายพรรคที่สูญพันธ์
ในส่วนของพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยน่าจะมาเป็นอันดับหนึ่ง ส.ส.น่าจะได้ ๒๐๐ บวกลบ ทิ้งอันดับ ๒ ไม่เห็นฝุ่นโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลก็สูงกว่า ซึ่งอาจจะมีการดึงพรรครัฐบาลในครั้งนี้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า ก็คงต้องติดตามหลังการเลือกตั้งอีกครั้ง…”
ก็ต้องยอมรับครับว่ากติกาใหม่ ล้อมากจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ต้องการให้พรรคกาารเมืองแข็งแรง รัฐบาลแข็งเกร่ง
ไม่ได้แข็งแรง แข็งแกร่ง ในเชิงอุดมการณ์ แต่เป็นปริมาณของส.ส.ในสภา
ผลเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชน ฉะนั้นไม่ว่าพรรคการเมืองไหน ชนะเลือกตั้งเป็นลำดับ ๑ ลำดับ ๒ หรือ ลำดับโหล่ ทุกพรรคก็มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล
ใครรวมเสียงได้มากกว่ากันฝ่ายนั้นได้เป็นรัฐบาล
สูตรนี้แม้จะต่างกับบรรทัดฐานที่สร้างโดย นายหัวชวน หลีกภัย ที่ให้พรรคลำดับ ๑ จัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าไม่ได้ พรรคลำดับ ๒ ได้สิทธินั้น ก็ตามทีแต่ก็ยังเป็นไปตามหลักเสียงข้างมาก
ครับ…เกจิอาจารย์แทบทุกสำนักฟันธงคล้ายๆกับคุณหมอระวี
พรรคเพื่อไทยมาแน่!
มีโอกาสสูงมากทีเดียวที่ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยดึงเอาพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันบางพรรคเข้าร่วมรัฐบาลด้วย
แต่ในทางทฤษฎีแล้ว เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เริ่มแรกของรัฐบาล อาจเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้เช่นกัน
เพราะวุฒิสภายังมีโอกาศโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีก ๑ ครั้งเป็นอย่างน้อย
ณ วันนี้ ๒๕๐ ส.ว. เสียงแตกบ้าง แต่ยังถือว่าน้อย
ส่วนใหญ่ยังทำงานกับรัฐบาลปัจจุบันค่อนข้างราบรื่น
แต่จะมีประเด็นซ้อนขึ้นมาทันที หาก ๓ ปอ. แตกคอกันจริง
คิดเล่นๆ วุฒิสมาชิกคงหันรีหันขวางว่าจะอยู่ข้าง “ลุงตู่” หรือ “ลุงป้อม” ดี
กว่าจะตั้งรัฐบาลได้คงต้องแสดงพลังกันหลายรอบ
ก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การตั้งรัฐบาลไม่ควรเริ่มต้นด้วยการเมืองที่ขัดแย้งรุนแรง เพราะไม่เช่นนั้นมันก็ไปไม่รอดครับ
การเมืองไทยในอดีตเราเคยมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยมาแล้ว
การจัดเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ มีพรรคใหญ่ ๒ พรรค ได้แก่ พรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค กับพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค
การเลือกตั้งครั้งนั้นแบ่งเขตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๒๑๙ คน
พรรคสหประชาไทยได้ ๗๔ คน
พรรคประชาธิปัตย์ได้ ๕๕ คน
พรรคอื่นๆ รวมกับสมัครอิสระ ๙๐ คน
พรรคสหประชาไทยต้องรวมกับพรรคอื่นเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน แต่บริหารประเทศได้เพียง ๒ ปีกว่า
การเลือกตั้ง ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ เป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (หม่อมพี่) กับพรรคกิจสังคมที่นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (หม่อมน้อง)
การเลือกตั้งครั้งนั้นมีที่นั่งส.ส.ในสภา ๒๖๙ คน
พรรคประชาธิปัตย์ได้ ๗๒ เสียง รวมกับพรรคอื่นๆ ได้เสียงสนับสนุน ๑๐๓ คน จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะครึ่งหนึ่งของสภา ๑๓๕ คน
เมื่อแถลงนโยบายของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงสนับสนุน ๑๑๑ คน ไม่สนับสนุน ๑๕๒ คน ทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศ ม.ร.ว.เสนีย์ ต้องลาออก และสละสิทธิการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคการเมืองอีกฝ่าย
เมื่อต้องเลือกรัฐบาลใหม่ สมาชิกพรรคการเมืองส่วนมากเห็นว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เพียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้
แม้พรรคกิจสังคมจะมีส.ส.เพียง ๑๘ คนก็ตามที
แต่ก็ไม่น่าเชื่อ รัฐงบาลเสียงข้างน้อยบริหารประเทศถึง ๑ ปีกับ ๓๗ วัน
ไม่ได้มีเฉพาะที่ไทย รัฐบาลเสียงข้างน้อยเคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก
พรรคเดโมแครต ของรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา ของสหรัฐ เคยพ่ายแพ้การเลือกตั้งสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ประสบความยากลำบากในการบริหารประเทศสหรัฐอเมริกามาระยะหนึ่ง
พรรคอนุรักษ์นิยมของ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ต้องรัฐบาลเสียงข้างน้อย
พรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาลโดยมีส.ส.อยู่ในมือ ๓๑๗ คน จากทั้งหมด ๖๕๐ ที่นั่ง
แต่กึ่งหนึ่งของสภาคือ ๓๒๖ ที่นั่้ง
เทเรซา เมย์ จำต้องตั้งรัฐบาลแม้จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ตาม
ต่อมา รวมกับพรรคเดโมแครติก ยูเนียนอิสต์อีก ๑๐ ที่นั่ง
กลายเป็น ๓๒๗ เสียง
ฉะนั้นโดยเงื่อนไขส.ว. ๒๕๐ คน ยังมีสิทธิเลือกนายกฯ ในการจัดตั้งรัฐบาล แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะกานรเลือกตั้ง และสามารถรวมเสียงส.ส.ได้มากกว่า แต่ใช่ว่าจะตั้งรัฐบาลได้ หากวุฒิสมาชิกยังเทเสียงให้ฝั่งพรรครัฐบาลปัจจุบัน
การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอาจเกิดขึ้นได้ แล้วไปหาทางเพิ่มเก้าอี้ส.ส.ก่อนที่จะแถลงนโยบาย
แต่ถ้า ๓ ปอ. แตกคอ การเมืองไทยเข้าสู่ยุคที่ซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
หากต่างฝ่ายต่างไม่ยอม การเลือกนายกฯ อาจจะนำไปสู่หายนะทางการเมืองอีกครั้ง
ฉะนั้น ๓ ปอ. เขาอ่านออกว่าการเมืองหลังเลือกตั้งจะเดินกันอย่างไร