เกมของ ‘๓ ป.’ – ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

ยุ่งตายหะ….

เห็นการเมืองวันนี้ ทำให้นึกถึงคำพูดของ โค้วตงหมง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีตประธานรัฐสภา ขึ้นมาในบัดดล

จบเอเปก ก็ดูวุ่นวายเสียจริง

วิจารณ์กันขรม มีโอกาสยุบสภาสูงทีเดียว

มีทั้งข้อเท็จและข้อจริง ปนอยู่ในความเคลื่อนไหวของ ๓ ป.

ข่าวบอกว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา “ป.ประยุทธ์” เข้าพบ “ป.ประวิตร” ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ จับเข่าคุยอนาคตการเมือง

มีรายงานข่าวว่า “ป.ประยุทธ์” ขอลา “ป.ประวิตร” ไปทำงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

จะมีการเปิดแถลงข่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

หลังเปิดอกคุย “ป.ประวิตร” หยิบโทรศัพท์จิ้มหาบรรดาแกนนำมุ้งในพรรคพลังประชารัฐว่า หากเกิดการเปลี่ยนแปลง จะยังไปต่อกับพรรคหรือไม่

เช็กชื่อล่าสุดเห็นว่า ๑๒ ส.ส.จะเดินตาม “ป.ประยุทธ์” ไปรวมไทยสร้างชาติ

นั่นคือข่าวคราวที่สร้างความอลเวงให้บรรดาสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หลายคนถึงกับนอนก่ายหน้าผาก ก่อนเลือกตั้งอาจต้องย้ายพรรคกันอีกครั้ง

แล้วไงต่อล่ะทีนี้

ส.ส.พลังประชารัฐปัจจุบันมีอยู่ประมาณ ๑๐๐ คน ถือว่าไม่น้อยทีเดียว

เป็นพรรคลำดับ ๒ รองจากพรรคเพื่อไทย

ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ พรรคที่พอจะสู้กับเพื่อไทยได้ ก็คือ พลังประชารัฐ

แต่หากพลังประชารัฐแตก มีโอกาสประเคนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ “อุ๊งอิ๊ง” สูงทีเดียว

ก็แน่นอนครับ หาก ๓ ป.แยกกันเดิน บางส่วนแตกออกไปรวมไทยสร้างชาติ นำโดย ” ป.ประยุทธ์” พลังประชารัฐจะหายไปสิบกว่าคน แต่ก็อาจได้กลุ่มธรรมนัสร่วมๆ ๒๐ คนเติมกลับเข้าไป

หากเป็นตามนี้ ยังพอกล้อมแกล้ม

แต่ก็อาจไม่ง่าย “ธรรมนัส” มา “สามมิตร” จะว่าไง

สุดท้ายก็อยู่ที่ฝีมือ “ป.ประวิตร” ว่า เอาอยู่หรือไม่

อย่างว่าการเมืองเป็นเรื่องของการประสานผลประโยชน์ ถ้าผลประโยชน์ลงตัวก็คุยกันรู้เรื่อง แต่หากคุยกันคนละภาษา ก็แสดงว่าผลประโยชน์ไม่ลงตัว

ฉะนั้นความเคลื่อนไหวของบรรดาแกนนำมุ้งต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นที่จับตามอง เพราะจะสะท้อนถึงทิศทางการเมืองหลังจากนี้

ที่แน่ๆ เสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เจ้าของเก้าอี้ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ชัดเจนกว่าใครเพื่อน

“ผมคนจริงใจ จิตใจนักเลง เป็นนักรบ บาดเจ็บบ้าง เป็นเรื่องธรรมชาติ ขออย่าให้ใครมานินทา ว่าเอาแต่ได้ ถึงเวลาต้องแสดงความจริงใจ

คนชลบุรี จิตใจ นักเลงจริง สมคำว่า นักเลงเมืองชล ลุงตู่ ปกป้องดูแลผม มาตลอดระยะเวลาเกือบ ๓ ปี จะทิ้งลุงตู่ไปคนเดียว ผมจะเอาหน้ากลับมาบ้าน ได้อย่างไร เสียชื่อ คนชลบุรี หมดสิครับ”

ได้ยินแบบนี้แล้วใครที่บอกว่าพลังประชารัฐไม่มีปัญหา เชื่อยากครับ

คำว่า “จะทิ้งลุงตู่ไปคนเดียว” บ่งบอกถึงสถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐว่า เป็นจริงอย่างที่เป็นข่าว

สุดท้ายก็อยู่ที่เงื่อนเวลาว่า “ลุงตู่” จะไปตอนไหน อย่างไร

จับอุณหภูมิจาก “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ก็ค่อนข้างชัดว่า มีเงื่อนไขใหม่เกิดขึ้นในพรรค

“…ผมเคยบอกว่าช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๖ แต่ตอนนี้ข้อมูลมันเปลี่ยนแปลงไปอีกแล้ว จึงทำให้ต้องดูข้อมูลกันใหม่ตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์กับประเทศสูงสุด…”

“…มันเป็นเรื่องข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ จึงต้องว่ากันด้วยข้อมูลใหม่

จะไปพูดกันว่าเราชอบไม่ชอบ รักไม่รัก แล้วตัดสินใจไปล่มหัวจมท้าย ทางการเมืองมันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นเรื่องของข้อมูลและความเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นเข้ามาด้วย

ขณะนี้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงใหม่หมดแล้ว จึงต้องล้างเมมโมรีเก่าออกให้หมด และทำใจให้นิ่ง แล้วคิดต่อไปว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป…”

ก็แบไพ่ให้เห็นกันหมดแล้ว

กลุ่มสามมิตร ล้างเมมโมรีรอ

พร้อมที่จะตัดสินใจทางการเมืองในทันทีหากข้อมูลใหม่มาถึง

เงื่อนไขหลักจึงต้องวกกลับไปที่ “ลุงตู่” ว่าจะตัดสินใจเมื่อไหร่

จะเกิดภาวะเสี่ยงต่อเสถียรภาพรัฐบาลในทันที หาก “ลุงตู่” ประกาศย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ

ความปั่นป่วนในพรรคพลังประชารัฐอาจจะยากต่อการควบคุม ขณะที่อีกฟากฝั่งการเมือง พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

แน่นอนครับการดูด ส.ส.ครั้งใหญ่ยังไม่เกิดขึ้น

คำถามคือ ทำไม “ลุงตู่” ถึงต้องย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ

หากไขปริศนานี้ออก จะเห็นหมากที่ ๓ ป.วางไว้

อย่างที่รับรู้กัน อนาคตในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “ลุงตู่” คือปัญหาใหญ่ที่พรรคพลังประชารัฐต้องตัดสินใจ

การเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภาให้เลือกบุคคลเพื่อนั่งเก้าอี้นายกฯ ได้เพียงครึ่งเทอม จะเป็นที่ถกเถียงกันในสภาอย่างหนักหน่วง

เพราะเป็นการเมืองที่ไม่ปกติ

แล้วคุ้มที่จะเสี่ยงหรือไม่?

ในทางการเมืองอธิบายได้ลำบาก และพรรคพลังประชารัฐน่าจะมองเห็นจุดนี้ แล้วแก้ปัญหาด้วยการชู “ลุงป้อม” เป็นนายกฯ เพียงชื่อเดียว

ฉะนั้นอนาคตของ ๓ ป. ไม่ได้ถูก ป.ใด ป.หนึ่งเป็นผู้กำหนด

แต่ ๓ ป.ร่วมกันกำหนด

แนวคิดของ ๓ ป.อาจต่างออกไป แม้การเลือกตั้งระบบใหม่ บัตร ๒ ใบเอื้อต่อพรรคการเมืองใหญ่มากกว่าก็ตาม

การเมืองที่สร้างเครือข่ายได้มากกว่า ก็อาจตั้งรัฐบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งลำดับที่ ๑

เป็นเงื่อนไขที่ซับซ้อน เพราะต้องยืมจมูกพรรคพันธมิตรหายใจ

แต่จะง่ายขึ้นหากพลังประชารัฐสามารถคงสถานะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ไว้ได้

จึงเป็นที่มาของการดูด กลุ่มธรรมนัส กลับ

เงื่อนไขนี้ไม่มีทางเลือกอื่น “ลุงตู่” ต้องเป็นฝ่ายไป

ไม่ได้ไปเพราะ ๓ ป.แตก

แต่เป็นเกมที่ ๓ ป.วางไว้

แล้วไปรอลุ้นผลการเลือกตั้ง

หาก พลังประชารัฐ+รวมไทยสร้างชาติ ได้เก้าอี้ ส.ส.คู่คี่สูสีกับ เพื่อไทย โอกาส “ลุงป้อม” เป็นนายกฯ มีสูงทีเดียว

ประเด็นสำคัญที่สุดหลังจากนี้จึงอยู่ที่ “ลุงตู่” เพียงผู้เดียว

อยู่จนครบวาระเดือนมีนาคมแล้วเปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ คือความสมบูรณ์ของแผน

ครับ…นั่งจับยามสามตาก็ประมาณนี้

Written By
More from pp
ภาวะฉุกเฉิน DKA หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่ควรระวัง
โดยพญ.ณัฐกานต์ มยุระสาคร  อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า ภาวะฉุกเฉิน DKA (Diabetic ketoacidosis) เป็นภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน แต่เดิมพบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (เบาหวานชนิดที่หนึ่ง) แต่ปัจจุบันพบได้บ่อยขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง (ผู้ป่วยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เป็นชนิดนี้)
Read More
0 replies on “เกมของ ‘๓ ป.’ – ผักกาดหอม”