19 พฤศจิกายน 2565 นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Anusree Tubsuwan” ระบุว่า
การประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 ถือเป็นงานแรกระดับระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจะได้รับประโยชน์มากมายจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
เช่น ได้ใช้ประโยชน์จากการหารือภายใต้กรอบเอเปค ในการแสวงหาความร่วมมือกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปก เพื่อปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัยและเป็นสากล รวมถึงยกระดับการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้พัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า พร้อมทั้งลดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้าระหว่างเขตเศรษฐกิจ
รวมถึงสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับเขตเศรษฐกิจเอเปก ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชน เสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยเข้าสู่ระบบการค้าโลกได้ เป็นการสนับสนุนการนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
การเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทย หลังการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว ภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าดิจิทัล ซึ่งเป็นการฟื้นฟูการเดินทางและการทำธุรกิจแบบพบหน้าครั้งสำคัญ หลังจากที่ประเทศไทยเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำอันก่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงเป็นโอกาสในการแสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัว และอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 โดยที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้
ภาพประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้ใช้เวลาในเมืองไทย ดื่มด่ำวัฒนธรรม และสัมผัสซอฟต์เพาเวอร์ไทยอย่างใกล้ชิด โดยไปชมการต่อยมวยไทย ที่สนามมวยราชดำเนิน และเดินทางไปยังถนนเยาวราช ที่โด่งดังเรื่องสตรีทฟู้ด และ ไนต์ไลฟ์ชื่อดังแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมาครง ได้เดินทางไปยังร้านอาหารจีน ฮั้วเซ่งฮง ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านอาหารเก่าแก่ชื่อดังของเยาวราชด้วย เป็นพรีเซนเตอร์ให้ประเทศไทยที่รัฐบาลไทยไม่ต้องจ้าง
ดิฉันอดเสียความรู้สึกกับความไร้เดียงสาของกลุ่มคนที่ตั้งชื่อม็อบให้รัฐบาลหยุดทำหน้าที่เจ้าภาพการจัดการประชุมระดับโลก ในยามที่ประเทศไทยกำลังทำหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ที่ผลการประชุม จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและภูมิภาคหลังการฟื้นตัวจากโควิด19 และภาพด้านบวกของไทยที่จะชักชวนคนทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวอีกนับล้าน
แม้สิทธิในการแสดงออกความเห็นทางการเมือง จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานก็ตาม แต่ภาพการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากมีการเคารพในกติกาที่ตกลงกันไว้ว่า พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตอยู่ที่ใด การชุมนุมก็ควรอยู่ที่นั้น
ผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ให้การชุมนุมก็ควรบังคับใช้กฎกติกาให้เต็มที่ ไม่ใช่มีหน้าที่แค่อนุญาตให้มีที่ชุมนุม ที่ลานคนเมือง แต่จะไปไหนก็ได้ ไม่สน ไม่แคร์ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ของ กทม. จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งและถูกนำไปขยายผลในทางลบต่อภาพลักษณ์ ต่อกรุงเทพมหานคร เมืองเจ้าภาพจัดการประชุม
ถือเป็นความรับผิดชอบของพ่อเมือง ที่ยากจะปฏิเสธ เพราะการทำงานดูแล ป้องกันเป็นหน้าที่ต้นทางของพ่อเมืองที่ท่านควรจะถอดบทเรียนเรื่องนี้ไว้ มิใช่แค่บอกว่า “เสียใจ” ดูจะน้อยเกินไปกับความรับผิดชอบของผู้บริหารเมืองเจ้าภาพการประชุมนะคะ !!