พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์
หากติดตาม “หมูเถื่อน” มาตั้งแต่ต้นปี 2565 มาโดยตลอด จะรับทราบถึงปัญหาที่แท้จริง ว่า ทำไมผู้เลี้ยงต้องเรียกร้องให้ภาครัฐปราบปรามหมูลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายจนสิ้นซาก ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ คือ
1 .เกษตรกรต้องการขายหมูในราคาที่เป็นธรรม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต เพื่อความมั่นใจในการเลี้ยงหมูต่อเนื่อง
2. ป้องกันไม่ให้โรค ASF ในสุกร เข้ามาระบาดในไทยซ้ำอีก หลังทำให้ผลผลิตปีนี้เสียหายและคนเลี้ยงกังวลจนต้องเลิกเลี้ยงหรือชะลอการเข้าเลี้ยง ส่งผลให้ผลผลิตหมูหายไปมากกว่า 50%
และสุดท้าย 3. เพื่อป้องกันผู้บริโภคจากการได้รับสารปนเปื้อนจากหมูเถื่อน ที่ประเทศต้นทางโดยเฉพาะจากอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และอาจเป็นหมูคุณภาพต่ำหรือหมดอายุ
ที่ผ่านมา “มือปราบ” ภาครัฐที่โดดเด่นขอยกให้ “กรมปศุสัตว์” ในฐานะเป็นผู้นำการจับกุม โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ตำรวจ และทหารตระเวนชายแดน หลักฐานประจักษ์จากสถิติการจับกุมระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม 2565 จำนวน 18 ครั้ง ปริมาณหมูผิดกฎหมาย 380 ตัน (380,000 กิโลกรัม)
และยังมีคำสั่ง “ย้ายด่วน” และโยกย้ายข้าราชการระดับหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศ 3 ครั้ง ใน 11 ด่าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติราชการ รวมถึงการปราบปรามหมูเถื่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่สั่งการให้ปราบปรามหมูเถื่อนอย่างเด็ดขาด เพื่อความผาสุกของคนไทยและผู้เลี้ยงหมูไทย
ช่วง 2 เดือนก่อนสิ้นปี 2565 เชื่อว่าการปราบปรามหมูเถื่อนโดยกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มข้นมากขึ้นอีก เพราะหนึ่งในความรับผิดชอบสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ คือ การป้องกันไม่ให้โรค ASF กลับมาระบาดในไทยได้อีก
ขณะเดียวกันต้องขับเคลื่อนเป้าหมายในการนำผลผลิตหมูสู่ภาวะปกติ 19-22 ล้านตัว ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้คนไทยมีเนื้อหมูเพียงพอไม่ขาดแคลนและราคาเหมาะสมตามกลไกตลาดสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
สร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรจากราคาที่เป็นธรรมและมีเสถียรภาพและประกอบอาชีพต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของไทย
ที่ผ่านมา หากการปราบปรามหมูเถื่อนดำเนินการได้เบ็ดเสร็จตั้งแต่สินค้าเทียบท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการนำเข้าหมูผิดกฎหมาย อยู่ในความรับผิดชอบของ “กรมศุลกากร” ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จับกุมที่ต้นทางนำเข้าและสาวให้ถึงตัวการใหญ่ นำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ปราบให้สาบสูญได้ที่จุดเดียวทุกฝ่ายก็สมประโยชน์
แต่ไม่เคยแม้ครั้งเดียวที่จะจับ “ของกลาง” ได้คาท่าเรือ ต้องออกแรงไปจับกันนอกท่าเรือฯ ทั้งหมดและไม่เคยมีชื่อเจ้าของสินค้าปรากฎ หรือเปิดเผยความคืบหน้าของคดีให้สังคมรับทราบ…ไม่มีและไม่เคย
ทั้งนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคม – 19 กันยายน 2565 กรมศุลกากรจับกุมหมูเถื่อนทั้งหมด 5 คดี ขณะขนส่งด้วยรถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกพ่วง รวมของกลาง 43,800 กิโลกรัม มูลค่า 8.94 ล้านบาท และส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการกับของกลางทั้งหมด
เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากสารปนเปื้อนและเชื้อ ASF อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้เกษตรกรสามารถผลิตหมูไทยออกจำหน่ายและผลักดันให้กลไกทางการตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
รายงานล่าสุด หมูเถื่อนเบนหัวออกจากไทยไปเข้าท่าเรือที่เวียดนามแทน แต่ยังมีเป้าหมายส่งเข้ามาทำกำไรในประเทศไทย โดยแยกเป็น 2 เส้นทาง จากโฮจิมินห์ผ่านปอยเปต ในประเทศกัมพูชา มาเข้าชายแดนไทยที่อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
ส่วนเส้นดานัง ผ่านสะหวันนะเขตของประเทศลาวเข้าไทยที่จังหวัดมุกดาหารและนครพนม มาเป็นกองทัพมด แต่ไม่รอดสายตาทหารหาญไทย จับได้ตามช่องทางธรรมชาติ โดยมีกรมปศุสัตว์ร่วมชี้เป้า