ผักกาดหอม
“ศักดิ์ หัวร้อน” ไปแล้ว “เค ร้อยล้าน” ก็ตามมา
นี่คือตัวอย่างการสร้างความรุนแรง ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
กรณี “เค ร้อยล้าน” มีความซับซ้อนกว่าตรงที่เป็นผู้ป่วยทางจิต ออกมาใช้ชีวิตแบบคนปกติ โดยไม่มีการควบคุมดูแลอย่างดีจากญาติ
ประเทศไทยมีบทเรียนจากการให้ผู้ป่วยทางจิตออกมาใช้ชีวิตแบบคนปกติ และก่อปัญหาความรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง
จำ “จิตรลดา” ได้มั้ยครับ
“จิตรลดา” ก่อเหตุใช้มีดแทง ด.ญ.วัย ๔ ขวบเสียชีวิต ที่จังหวัดนครปฐม เมื่อปี ๒๕๖๓
เมื่อปี ๒๕๔๘ “จิตรลดา” เคยก่อเหตุใช้มีดไล่แทงเด็กนักเรียนในโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จนได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย
“จิตรลดา” ถูกส่งตัวให้จิตแพทย์ทดสอบสภาพจิตใจ
พบว่ามีอาการทางประสาท
รายนี้เข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จนเริ่มกลับมาเป็นปกติ
แต่สุดท้าย ใช้มีดแทงเด็กเสียชีวิต
วันนี้เราอยู่ร่วมกับผู้ป่วยทางจิตจำนวนไม่น้อย
ในทางการแพทย์บุคคลทางจิตรุนแรง มีความอันตรายต่อสังคม จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา อย่างต่อเนื่อง
“เค ร้อยล้าน” มีประวัติก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง
ประเด็นที่ต้องพูดถึงคือ การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และหลายครั้ง “เค ร้อยล้าน” ชูพระบรมฉายาลักษณ์ จนแก๊งล้มเจ้าเอาไปตีความกระทบไปถึงสถาบันเบื้องสูง
การแสดงความจงรักภัคดีมีหลากหลายวิธี แต่ที่ “เค ร้อยล้าน” ทำ นอกจากไม่ถูกต้องแล้ว บุคคลรอบข้าง คนในครอบครัวต้องรับผิดชอบด้วย
เพราะเป็นผลเสียต่อสถาบันเบื้องสูงมากกว่า
หากรักษาไม่หาย ก็ไม่ควรปล่อยออกมาสู่สังคมภายนอก
เห็นด้วย ที่ตำรวจนครบาลจะเอาผิดกับญาติ “เค ร้อยล้าน” และสร้างบรรทัดฐานให้ญาติผู้ป่วยจิตเวชได้รับรู้ถึงความรับผิดชอบ หากผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในความดูแลออกไปสร้างปัญหาให้สังคม
โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
กรณีนี้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มีสิทธิทีจะฟ้องร้องครับ เพราะเป็นผู้ถูกกระทำ
ส่วนรายละเอียดว่า ทำร้ายร่างกายอย่างไร บาดเจ็บแค่ไหน สาหัสหรือไม่ ก็แสดงหลักฐานทางการแพทย์ไปเอาผิดกันในศาล
เพราะฐานความผิดโทษรุนแรงลดหลั่นกันไป
ฝั่ง “เค ร้อยล้าน” หยิบความเป็นผู้ป่วยจิตเวชมาสู้ ก็ไปว่ากันตามกระบวนการ
การที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งคำถามในโซเชียลว่า
“…พฤติกรรมของคนที่ใช้ชื่อ “เค ร้อยล้าน” กระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งหลายหน ทำร้ายผู้อื่น ชูพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมตะโกนโหวกเหวกยกย่องเชิดูสถาบันกษัตริย์ พฤติกรรมแบบนี้เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์ตรงไหนครับ?…”
คำตอบคือไม่เป็นคุณ
และไม่มีใครมองว่าเป็นคุณ
พฤติกรรมของ “เค ร้อยล้าน” หากมองอย่างเข้าใจว่าเกิดจากปัญหาทางจิต บทสรุปไม่ได้อยู่ที่การตั้งคำถามว่าเป็นคุณต่อสถาบันฯตรงไหน
แต่ต้องตั้งคำถามว่า ทำไม “เค ร้อยล้าน” ถึงไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมากกว่า
ทำไมผู้ป่วยจิตเวชถึงถูกปล่อยมาสร้างปัญหาในสังคม
ใครต้องรับผิดชอบบ้าง
“ลุงตู่” มีส่วนด้วยหรือเปล่า ก็ว่ากันไป
เพียงแต่ “ปิยบุตร” มีวาระอื่นอยู่ในใจ จึงไม่แปลกที่พุ่งเป้าไปที่ สถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ ที่รู้ดีอยู่แล้วว่า ผู้ป่วยจิตเวชมีพฤติกรรมเช่นนี้ ไม่เป็นคุณกับใครทั้งนั้น
แต่กับคนจิตปกติดี เพียงแต่นิยมใช้ความรุนแรงมาหลายกรณีอย่าง “ศักดิ์ หัวร้อน” กลับไม่เป็นที่สนใจของ “ปิยบุตร”
ทั้งๆ ที่การก่อความรุนแรงมีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจน
มันคือการทำร้ายร่างกายเพียงเพราะมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ทำไปโดยจิตปกติดีทุกอย่าง
แบบนี้ไม่น่ากลัวกว่าหรือ
ดูจากท่าทีของส.ส.พรรคก้าวไกล สะใจที่ “ศรีสุวรรณ” ถูกต่อย แถมยังโพสต์บัญชีธนาคาร “ศักดิ์ หัวร้อน” ให้ร่วมกับบริจาค ภาพรวมของพรรคนี้ คณะบุคคลกลุ่มนี้ก็ไม่น่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่
เพราะคนกลุ่มนี้เองด้อยค่า “โตโน่” ที่ว่ายน้ำรับเงินบริจาคซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลไทย-ลาวสองฝั่งโขง
ความแตกแยกทางจิตสำนึก ไม่ได้เกิดมาวันสองวันครับ แต่ถูกปูพื้นมาหลายปีแล้ว นานพอที่พรรคก้าวไกล เลือกที่จะใช้ยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง
“รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร” อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชำแหละประเด็นนี้ ทำให้มองภาพกว้างชัดเจนขึ้น ยกมาให้อ่านบางช่วงบางตอนครับ
“…พรรคก้าวไกล (คณะก้าวหน้า) ได้ประกาศชัดว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะดำเนินการให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ต้องโทษคดีการเมือง และคดี ๑๑๒ และจะให้มีการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ด้วย
การที่พรรคก้าวไกลประกาศเช่นนี้ ชัดเจนว่ากำลังใช้ยุทธศาสตร์แบบโฟกัส คือเลือกเน้นกลุ่มคนที่ไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์และกลุ่มคนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่สนใจกับคะแนนเสียงของคนที่ยังเห็นความสำคัญและยังเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะคงคำนวณแล้วว่าคนกลุ่มแรกมีมากพอที่จะทำให้เขาได้ร่วมเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า การคำนวณของพรรคก้าวไกลจะถูกต้องหรือไม่ จะต้องคอยติดตามดูผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจึงจะทราบได้
เคยลองคิดดูบ้างหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลจึงยังคงดึงดัน ไม่ยอมหยุดหรือแม้กระทั่งชะลอเรื่องความพยายามเพื่อแก้ไข หรือที่ต้องการจริงๆ คือการยกเลิกมาตรา ๑๑๒
หลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมา เราได้เห็นการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ในรูปแบบต่างๆ จากนักวิชาการอิสระ อาจารย์มหาวิทยาลัย องค์การนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ลงไปจนถึงระดับโรงเรียน รวมทั้งสำนักข่าวหลายสำนัก การล้อเลียน เสียดสี ย่ำยีสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกโอกาสที่คนเหล่านี้จะทำได้
นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน แต่เชื่อได้ว่าขบวนการนี้ได้มีการวางแผนและดำเนินการมาเป็นเวลานาน จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือการครอบงำความคิดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ เมื่อคนเหล่านี้ได้ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย พวกเขาก็จะไปครอบงำบ่มเพาะความคิดนิสิตนักศึกษา จัดตั้งกลุ่มการเมืองในสถาบันการศึกษาให้ลงเลือกตั้งเป็นนายก เป็นกรรมการองค์การนิสิตนักศึกษา สภานิสิตนักศึกษา เพื่อเคลื่อนไหวตามแนวทางข้างต้น
เมื่ออาจารย์ครอบงำนิสิตนักศึกษา นิสิตนักศึกษาที่รับการครอบงำเมื่อจบไป ไปเรียนต่อ กลับมาเป็นอาจารย์มหาวิยาลัย กลับมาเป็นครู ก็มาครอบงำนักเรียน นิสิตนักศึกษารุ่นต่อๆ มา คนรุ่นต่อๆ มาก็จะถูกบ่มเพาะให้มีความคิดแบบเดียวกัน…”
ยุทศาสตร์ เอา หรือ ไม่เอา ม.๑๑๒ คือการบอกไบ้ว่า เอา หรือ ไม่เอาเจ้า มีโอกาสขยายไปสู่ความรุนแรงในอนาคต
เลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ
เพราะผลการเลือกตั้ง อาจเป็นใบเบิกทางให้ฝ่ายการเมืองรุกล้ำสถาบันพระมหากษัตริย์