นิรโทษกรรม ม.๑๑๒-ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

“ครับผม”

เป็นคำตอบในคำถาม ให้ความเชื่อมั่นได้หรือไม่ จะไม่มีการปฏิวัติ ของ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

“…ในส่วนของทหารมีบทบาทตามขอบเขตอยู่แล้ว ประเทศเราพัฒนามาไกลมากแล้วก็ต้องให้ประชาชนและสื่อช่วยกันดูเรื่องการดำเนินการทางการเมืองต่างๆเพื่อให้การแก้ไขปัญหาของประเทศเป็นไปในแนวทางทางการเมือง

ผมเชื่อว่า ความคาดหวังของผู้คนทุกคน เราต้องการเห็นพัฒนาการของประเทศเรา เป็นไปในรูปแบบภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราต้องการเห็นอย่างนั้น ทหารก็ต้องการเห็นอย่างนั้น ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม หรือในทางการเมืองต่างๆ จะเป็นอย่างไร ทหารก็ทำหน้าที่ของเราเท่านั้นเอง ก็ขอให้มีความเชื่อมั่นได้…”

นี่คือทัศนคติที่น่ายกย่องครับ

น่าจะทำให้พวกลัวรัฐประหารขึ้นสมองพอเบาใจได้ไประดับหนึ่ง

ว่ากันตามข้อเท็จจริง รัฐประหารหลังจากนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก

หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกแล้ว

ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง แม้จะอ้างว่าต้องทำรัฐประหารเพราะนักการเมืองโกง ไม่อาจฟังขึ้นอีกต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงานใหญ่ที่คสช.ทำไม่สำเร็จ

คือ ปฏิรูปการเมือง ขจัดนักการเมืองอคอร์รัปชั่น

ฉะนั้นหากมีรัฐประหารอีกครั้ง ก็ยากที่จะได้รับการยอมรับ

เมื่อได้ฟังทัศนคติที่เป็นบวกต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากปากผู้นำกองทัพแล้ว ก็อยากให้ยินจากนักการเมืองบ้างเช่นกันว่า พร้อมที่จะปฏิรูปการเมืองกันบ้างหรือยัง

แต่ยังไม่มีการพูดถึงครับ

นักการเมืองยังไม่คิดริเริ่มที่จะปฏิรูปการเมืองด้วยตัวเอง

จึงยากครับ ที่เราจะได้เห็นการเมืองที่เป็นบวกต่อระบอบประชาธิปไตย ชนิดสามารถจับต้องได้

ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่ปาก แต่ใจเป็นสมุนเผด็จการบ้างคนโกงบ้าง ที่มีให้เห็นแทบทุกวัน

แล้วการเมืองในปัจจุบันขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยตรงไหน ก็ในเมื่อนักการเมืองในสภาล้วนมาจากการเลือกตั้ง

นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เราเลือกตั้งสาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาทั้งสิ้น ๒๘ ครั้งแล้วครับ

ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖

ครั้งสุดท้ายก็เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา

แล้วเป็นไงครับ ได้ลิ้มลองประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กันบ้างแล้วหรือยัง

ส่วนหนึ่งที่ไม่สมบูรณ์เป็นเพราะมีการรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น ๑๗ ครั้ง

แต่เราก็มีช่วงรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งยาวนานเช่นกัน เพียงแต่รักษาเอาไม่ได้ เพราะรัฐบาลคอร์รัปชั่น แล้วทหารเอาเป็นเหตุทำรัฐประหาร

วนเป็นงูกินหาง

ประชาธิปไตยไทยเริ่มต้นผิดพลาดมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕

พฤติกรรมผลัดเปลี่ยนชิงอำนาจ ด้วยการทำรัฐประหาร บางครั้งบางกลุ่มกลายเป็นกบฎ ต้องหนีไปใช้ชีวิตต่างแดน คือมรดกที่คณะราษฎรต่างขั้วส่งมอบมาถึงการเมืองปัจจุบัน

หากจะไม่เดินเส้นทางนี้ต่อ ทุกฝ่ายต้องไม่สร้างเงื่อนไขขึ้นมา

คอร์รัปชั่นเป็นหนึ่งในเงื่อนไข

แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้

รวมทั้งความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง นี่อาจเป็นชนวนให้เกิดการรัฐประหารครั้งใหม่ได้

ความพยามนี้มีอยู่จริง แต่ติดตรงเงื่อนไขทางกฎหมาย ที่ค่อนข้างรุนแรง ขบวนการนี้จึงเคลื่อนไหวลักษณะฉาบฉวยในโซเชียลเป็นหลัก

การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ฟังดูน่าจะเป็นการทำให้ดีขึ้น เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่าปฏิรูปย่อมนำมาซึ่งสิ่งที่ดีกว่า

แต่เสียงเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกลับแวดล้อมด้วย การโจมตี จาบจ้วง หยาบคาย จนมองไม่เห็นว่า จะนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างไร

หลายปีมานี้มีผู้ต้องหา และนักโทษคดี ม.๑๑๒ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากการพูดจาจาบจ้วง ทั้งวาจา และพฤติกรรม

น้อยคนตกเป็นผู้ต้องหาเพราะมีเจตนาปฏิรูปสถาบันจริงๆ

แต่ก็มีการแปลความผิดๆว่า การจาบจ้วงคือเสรีภาพ

วันก่อน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” โพสต์เฟซบุ๊กตั้งหัวข้อ “นิรโทษกรรม-ปฏิรูปสถาบัน-ICC บันไดสามขั้นสู่การคืนความยุติธรรมในยุคเปลี่ยนผ่าน”

เนื้อในคือเสนอนิรโทษกรรมนักโทษคดีม.๑๑๒

“…ผมได้มีโอกาสร่วมเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมในยุคเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ๖ ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ ซึ่งจัดขึ้นที่ Kinjai Contemporary

ประเด็นที่ผมอยากย้ำอีกครั้งในที่นี้ คือความจำเป็นที่รัฐจะต้องคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เห็นต่าง เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้ หลุดพ้นจากวังวนความขัดแย้ง แตกแยก เกลียดชังไม่สิ้นสุด

อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะท่ามกลางความเกลียดชังอย่างถึงที่สุดที่เกิดขึ้นในยุค ๖ ตุลา คนไทยถูกบ่มเพาะให้เกลียดชังนักศึกษาผู้ถูกป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ถึงขั้นดีอกดีใจกับการสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ เผาคนทั้งเป็น ใช้ไม้แหลมตอกอก กระทำทารุณกรรมศพต่างๆ นานา แม้แต่วัดในกรุงเทพฯ ยังไม่รับเผาศพ “พวกล้มเจ้า”

ผ่านไปเพียง ๔ ปี รัฐบาลในสมัยนั้นยังออกนโยบาย ๖๖/๒๓ นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา คนที่เคยจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาล ได้กลับมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญระดับรัฐมนตรีหลายคน และยังเป็นนักการเมืองคนสำคัญที่สร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศมาจนถึงปัจจุบัน เช่นคุณจาตุรนต์ ฉายแสง คุณภูมิธรรม เวชยชัย คุณหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือคุณสุทัศน์ เงินหมื่น

การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมดที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร ๒๕๕๗ เป็นต้นมา โดยเฉพาะนักโทษคดี ๑๑๒ จึงเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกต่อการสร้างสังคมที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ไปสู่ความก้าวหน้าได้

แต่เท่านั้นยังไม่พอ

มีปัจจัยอีก ๒ ประการที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่เติบโตบนความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ สังคมที่คนเห็นต่างจะไม่ถูกฆ่าหรือกลายเป็นอาชญากร นั่นก็คือการยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ วันนี้ ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ และมีความคิดในเรื่อง Republic ว่าอาจเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทย คำถามของผม ด้วยความห่วงใยต่อสถาบันกษัตริย์ และต่ออนาคตของประเทศ ด้วยความตระหนักถึงความหนักของปัญหานี้ ผมถามว่าคนที่คิดแบบนี้สมควรถูกฆ่าตายหรือ? พวกเขาควรถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรหรือไม่? คุณอยู่ร่วมกับพวกเขาในสังคมได้รึเปล่า?

ผมพูดในฐานะคนที่มีคดีความ ๑๑๒ อยู่กับตัวแล้วหลายคดี ว่านี่คือหน้าที่ของพวกเราประชาชน ที่จะร่วมกันยืนยันว่าการพูดถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นเสรีภาพที่ทำได้ ไม่ใช่อาชญากรรม ถ้าพูดกัน ๑๐ คน ก็จะติดคุกทั้ง ๑๐ คน แต่ถ้ามีคนพูดเป็นพันหรือเป็นหมื่นคน จะไม่มีใครต้องติดคุกแม้แต่คนเดียว

ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำเพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งพ้นผิด หรือใครคนใดคนหนึ่งต้องถูกลงโทษ แต่เป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับทั้งสังคม เพื่อให้เรากลายเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ ชำระบาดแผลในอดีต และป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำๆ ในอนาคต…”

แม้จะอ้างว่าต้องขจัดความเกลียดชังที่ไม่สิ้นสุด แต่มองเห็นอคติของ “ธนาธร” ที่พูดถึง จาตุรนต์ ภูมิธรรม แต่ไม่เอ่ยชื่อ “ป๋าเปรม” ผู้ออกออกนโยบาย ๖๖/๒๓

นี่เป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ทำให้เห็นว่า “ธนาธร” มิได้จริงใจเสนอนิรโทษกรรมนักโทษคดีม.๑๑๒ เพื่อการปฏิรูปสถาบันฯ

คนรอบข้าง และผู้สนับสนุน “ธนาธร” จำนวนมาก จาบจ้วง สถาบันฯมาเป็นเวลานาน เจตนามองเป็นอย่างอื่นมิได้ นอกจากการล้มล้าง

การถูกบ่มเพาะให้เกลียดชังนักศึกษาผู้ถูกป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ถึงขั้นดีอกดีใจกับการสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ แทบมิได้ส่งต่อมามาถึงปัจจุบัน

มีแต่คำถามว่าหากวันนั้นคอมมิวนิสต์ชนะ วันนี้ประเทศไทยจะอยู่ในสภาพไหน ประเทศคอมมิวนิสต์ในโลกนี้ทุกคนเท่าเทียมกันจริงหรือไม่ มีอิสระเสรีภาพจริงหรือไม่ และมีความเป็นประชาธิปไตยที่ร้องหาอย่างไร

แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฎชัดส่งต่อมาร่วม ๕๐ ปีคือ

การล้มล้างสถาบันฯมีอยู่จริง โดยคนกลุ่มเดิม



Written By
More from pp
“สส. จีรเดช” ขอบคุณรัฐบาลแทนชาวนา หลังอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท
“สส. จีรเดช” ขอบคุณรัฐบาลแทนชาวนา หลังอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้พ้นจากปัญหาความยากจน
Read More
0 replies on “นิรโทษกรรม ม.๑๑๒-ผักกาดหอม”