สันต์ สะตอแมน
รู้ทุกเรื่อง..
แต่..แค่จะฟัง “วิทยุทรานซิสเตอร์” สักเครื่อง ยังไม่รู้จะไปหาซื้อได้ที่ไหน?
เอ้า..บอกกูรูให้เอาบุญ ตึกน้อมจิตต์ฝั่งตรงข้ามเดอะมอลล์บางกะปิ ด้านหลังน่ะไปเลือกเอาเถอะเต็มไปหมด รวมถึง “ตลาดนัด” ใกล้ๆ บ้าน จะเอาสิบเครื่อง-ร้อยเครื่องมีขายกราดเกลื่อน
ไม่เชื่อใช่ไหม..งั้นดูคลิปวีดีโอที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยโพสต์สิ..
“นายกบอกถ้าไฟดับให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมทางวิทยุทรานซิสเตอร์ ใครยังไม่มีรีบซื้อนะคะ เดี๋ยวของขาดตลาด”!
แหมๆ..จะเอาทุกเม็ด กระทั่ง “วิทยุทรานซิสเตอร์” เรื่องขี้หมูรา-ขี้หมาแห้ง ก็ยังพยายามจะนำมาขยี้-มาแซะ-แซวลุง แต่ทีเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯล่ะก้อ..เงียบกริบ!
และนี่..หลังพล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านทางวิทยุ เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุดในสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรง แม้จะถูกค่อนแคะจากสื่อจากนักการเมือง
แต่ผมกลับได้ความรู้ จากที่เคยคิดเอาว่าทุกวันนี้ “วิทยุ”คนไม่ค่อยฟังกันแล้ว ที่ไหนได้ อ่านที่คุณอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองฯเผยข้อมูล..
“ตัวเลขผลสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ จากจำนวนผู้ฟัง 3,655 คน อ้างอิงจากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.
และสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พบว่า อุปกรณ์หลักในการรับฟังวิทยุ จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 68.9 ของกลุ่ม ผู้ฟังวิทยุยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ
ทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์ รองลงมาร้อยละ 19.3 รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3G 4G และ wifi
ตามมาด้วย ร้อยละ 7.8 เป็นการรับฟังจากวิทยุที่อยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต และน้อยที่สุด ร้อยละ 0.3 เป็นการรับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
จากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ก แล็ปท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา คลื่นที่ใช้ในการรับฟังรายการวิทยุ จากการสำรวจพบว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่นิยม หรือร้อยละ 85.9 รับฟังรายการวิทยุจากคลื่น FM
ตามมาด้วยการรับฟังวิทยุออนไลน์ร้อยละ 17.5 และรับฟังจากคลื่น AM ร้อยละ 11.2 ด้านช่องทางในการรับฟังวิทยุออนไลน์ จากการสำรวจพบว่า
ช่องทางสำคัญที่ผู้บริโภคใช้รับฟังวิทยุออนไลน์ คือการฟังผ่านแอปพลิเคชัน (สัดส่วน ร้อยละ 65.9) ส่วนการรับฟังผ่านเว็บไซมีเพียง ร้อยละ 39.7
นอกจากนี้ พฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบ FM จำนวน 40 สถานี จากทุกช่องทาง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
และข้อมูลการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบ FM ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 สถานี อ้างอิงจาก บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด
ได้ระบุถึงพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จำนวนผู้ฟังวิทยุรายเดือน แยกตามช่วงอายุ Generation โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2565
ผู้ฟังกลุ่ม Gen X อายุ 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังวิทยุมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคน รองลงมาคือ ผู้ฟังกลุ่ม Gen Y อายุ 20-29 ปี ฟังวิทยุกว่า 3.3 ล้านคน
ขณะที่ผู้ฟังกลุ่ม Baby Boomer อายุ 60-71 ปี ฟังวิทยุสูงเกือบ 2 ล้านคน และผู้ฟังกลุ่ม Gen Z อายุ 12-19 ปี ก็มีการฟังวิทยุถึงกว่า 8 แสนคน
ซึ่งตัวเลขข้อมูลดังกล่าวนี้สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ช่องทางการสื่อสารผ่านวิทยุเป็นช่องทางที่ยังได้รับความนิยมและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย”
ครับ..มิน่า นายกฯลุงตู่ถึงได้แนะให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์เตือนประชาชน หากการสื่อสารล่มในสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้
เพราะรู้-เข้าใจลึกซึ้ง วิทยุยังเป็นที่นิยมของคนฟังอยู่ทุกเพศ-ทุกวัย ก็เห็นจะมีแต่ผู้เฒ่าบางคนนั่นแหละ..
นั่งมโน-อวดรู้ไปวันๆ!