ที่มา..สมาคมชาวปักษ์ใต้ – สันต์ สะตอแมน

www.plewseengern.com

สันต์ สะตอแมน

ขอแสดงความยินดีกับนายกฯ ด้วยครับ!
ผมหมายถึง “นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับตำแหน่งไปเมื่อกี่วันที่ผ่านมาน่ะ

และหลังนั่งเก้าอี้ปุ๊บ นายกสมาคมฯ คนใหม่ก็ได้ลงมือทำงานตามเจตนารมณ์ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานทันทีทันใด โดยหนึ่งในนั้นก็คืองาน “สารทเดือนสิบ”

ซึ่งปีนี้ สมาคมชาวปักษ์ใต้ฯ จะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 17-25 กันยายน 2565 ที่สมาคมชาวปักษ์ใต้ฯ กทม.

ผม..แม้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาคม แต่ในฐานะคนใต้ ก็ใคร่ขอเชิญชวนทั้งคนภาคใต้และคนภาคอื่น ได้ไปร่วมทำบุญเดือนสิบด้วยกันนะ!

ได้บุญแล้วก็กิน-หรอยกันต่อกับอาหารหลากหลายถิ่นที่ พร้อมๆ ไปกับการเลือกซื้อสินค้าระดับโอทอป-ใต้แท้ๆ ตกค่ำมีมหรสพ หนังตะลุง มโนราห์ให้ดูฟรีตลอดงาน!

เนี่ย..ผมเขียนถึงกิจกรรมของสมาคมชาวปักษ์ใต้มาโดยตลอด แต่บอกตามตรงผมไม่เคยทราบประวัติความเป็นมาของสมาคมฯ สักเท่าไร

เพิ่งจะได้อ่านจากที่ คุณสหสัก กัญจนปกรณ์ เลขาธิการสมาคมฯ โพสต์นี่แหละ..

โห..สมาคมชาวปักษ์ใต้ฯ ไม่เบาเชียวนะ ลองอ่านที่ผมคัดลอกมาบางช่วงบางตอนดูหน่อยก็ได้ โดยเฉพาะคนปักษ์ใต้รู้ไว้บ้างก็ดีนะ..ขออนุญาต

“เมื่อเกือบๆ 90 ปีก่อนโน้น ชาวปักษ์ใต้ อยู่ห่างไกลความเจริญกับเมืองหลวง (บางกอก) มาก การคมนาคมแสนจะลำบาก

การเดินทางไปมาส่วนใหญ่ คือ ทางรถไฟ เรือสินค้าทางทะเล และจักรยานหรือเท้าเปล่า สมัยนั้นชาวปักษ์ใต้ถ้าใครได้เดินทางมาเรียนหนังสือในบางกอกได้ นับว่าโชคดีที่สุด

เสมือนคนไทยในปัจจุบันที่ได้เดินทางไปเรียนหนังสือที่ยุโรปหรือเมริกาโน่น

ดังนั้น พวกภาคใต้เราที่มาเรียนหนังสือหรือประกอบอาชีพอยู่ที่บางกอกนั้นมีความว้าเหว่มาก จะพบพรรคพวกเพื่อนฝูงแต่ละครั้งหาที่นัดพบกันลำบาก

เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่วัดกันทั้งนั้น การติดต่อนัดพบก็ลำบาก รถเมล์มีน้อย โทรศัพท์ก็ไม่มี ต้องอาศัยรถรางในการเดินทาง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี่เอง จึงทำให้ “สมาคมชาวปักษ์ใต้” เกิดขึ้นตราบทุกวันนี้

คือมีชาวภาคใต้กลุ่มหนึ่งได้นัดหมายให้พบปะกันที่ร้านกาแฟ หน้าวัดประยูรวงศ์ เชิงสะพานพุทธฯ ธนบุรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2475 เพื่อปรึกษาหารือกันเรื่องต่างๆ

ในที่สุดสรุปว่าเราจะก่อตั้งสมาคมพวกเราขึ้นมา โดยให้ชื่อว่า “สมาคมชาวปักษ์ใต้” เพื่อให้เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นประมาณ 85 คน

เก็บเงินค่ากาแฟลงขันได้ 116 บาท จ่ายค่าอาหารเสีย 81.60 บาท เหลือเงิน 34.30 บาท เก็บไว้เพื่อเป็นการเริ่มต้นจดทะเบียนสมาคมฯ

โดยตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งในการติดต่อกับทางราชการจดทะเบียนสมาคมชาวปักษ์ใต้ อันประกอบด้วย ร.ต.ถัด รัตนพันธ์, พ.ต.หลวงอภิบาลภูวนาถ, ร.อ.หลวงวีรวัฒน์โยธิน,หลวงคเชนทรมาตย์

ขุนวรศาสตร์ดรุณกิจ, นายมงคล รัตนวิจิตร, นายกิมผ่อง โกศลสถิตย์, นายเที่ยง จินดาวัฒน์, นายห้วน ประชาบาล, นายปิ๋ว เปรมะดิษฐะ,

นายพัน โกมลกุญชร, นายถัด พรหมาณพ., นายจูกี้ ถิระวัฒน์, นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

คณะบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการตามมติที่ประชุมเสร็จเรียบร้อย โดยทางราชการออกหนังสือรับรองว่า “สมาคมชาวปักษ์ใต้” จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม2475

นับว่าเป็นสมาคมที่ 2 ของประเทศไทยที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีสโมสรคณะราษฎร์ จดทะเบียนเป็นสมาคมที่ 1 ของประเทศไทย..

การจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมฯครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1.ส่งเสริมบำรุงรักษาความสามัคคี และอุปการะซึ่งกันและกันระหว่างชาวปักษ์ใต้

2.อุดหนุนการศึกษาของชาวปักษ์ใต้ 3. ช่วยในการกุศลเมื่อสมาชิกถึงแก่มรณภาพ 4.บำรุงทางอนามัย คือ การเล่นกีฬาต่างๆ

เมื่อได้หนังสือรับรองเป็นทางการแล้ว ทางคณะบุคคลผู้ก่อตั้งได้เรียกประชุมเพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมฯ และคณะกรรมการขึ้นมาตามข้อบังคับที่ได้จดทะเบียนไว้

โดยมติส่วนใหญ่ได้เลือก พ.ต.หลวงภิบาลภูวนาถ เป็นนายกสมาคมคนแรกของสมาคมชาวปักษ์ใต้..

ต่อมาในปี พ.ศ. 2529-2536 สมัย พล.ต.อ.มนัส ครุฑไชยันต์ เป็นนายกสมาคมฯ ได้ซื้อที่ดินฝั่งธนบุรีย่านพุทธมณฑลวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารสมาคมฯหลังใหม่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530

โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นประธานในพิธี และในปี พ.ศ.2535 การก่อสร้างได้แล้วเสร็จ

ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 34 ล้านบาท บนเนื้อที่ 6 ไร่ 9 ตารางวา เป็นที่ตั้งสมาคมฯ อันสมเกียรติและสง่างาม

ในวันที่ 25 ตุลาคม 2537 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาคมฯอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในสมัย พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ เป็นนายกสมาคมฯ”

ครับ..ก็เอาคร่าวๆ รู้ไว้พอสังเขป!



Written By
More from pp
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว อำนวยความสะดวกในการส่งคนไทยในญี่ปุ่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกลับไทย โดยเที่ยวบินพิเศษของสายการบิน All Nippon Airways
16 มิ.ย.63 คนไทยในญี่ปุ่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เดินทางกลับประเทศไทยโดยสายการบิน All Nippon Airways (ANA) เที่ยวบินที่ NH847 ออกเดินทางจากท่าอากาศยานฮาเนดะ ถึงประเทศไทยเวลา...
Read More
0 replies on “ที่มา..สมาคมชาวปักษ์ใต้ – สันต์ สะตอแมน”