“สุริยะ” สั่ง กนอ.สำรวจความพร้อมรับมือน้ำท่วมในทุกนิคมฯ อย่างใกล้ชิด ด้าน “วีริศ” มั่นใจ ทุกนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการสถานการณ์ได้ แม้ปีนี้มีแนวโน้มปริมาณฝนมากกว่าปีก่อน กำชับเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยง
6 กันยายน 2565-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งเตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วม เพื่อลดผลกระทบจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
โดยได้ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 67 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำและติดแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ที่พื้นที่อยู่ใกล้ทะเล อาจจะเกิดน้ำทะเลหนุนได้ในบางช่วง และยังอยู่ใกล้กับชุมชนอีกด้วย
“ผมได้สั่งการไปยัง กนอ.ให้กำชับทุกนิคมอุตสาหกรรมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม รวมถึงกรณีที่อาจมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุน ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงเกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะแรงงานที่ต้องเดินทางมาทำงานในนิคมฯ นั้น
ต้องหาแนวทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้เท่าที่สามารถจะทำได้ ทั้งนี้ได้รับรายงานจาก กนอ.ว่าแต่ละนิคมอุตสาหกรรมมีมาตรการป้องกันน้ำท่วมอย่างชัดเจน และบางนิคมอุตสาหกรรมยังมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันได้มีการติดตามข้อมูลการระบายน้ำจากทั้ง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระราม 6 อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตรวจสอบระดับน้ำและปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุริยะ กล่าว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
2.คาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่
3.ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ รวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์
4.พร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ
5.ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอก ทั้งแบบใช้น้ำมันและแบบใช้ไฟฟ้า เข้ามาสนับสนุนทันทีที่มีการร้องขอ
6.สื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ทราบถึงสถานการณ์ล่าสุดอย่างต่อเนื่อง
7.กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ และ
8.กรณีที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดอุทกภัย ให้รีบรายงานผู้ว่าการ กนอ. และผู้บริหาร กนอ.ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ
“มั่นใจว่ามาตรการของ กนอ.ทั้งหมดจะรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯ ทุกแห่ง รวมทั้งชุมชนโดยรอบได้” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวทิ้งท้าย