ความมุ่งหมาย ‘นายกฯ๘ปี’ – ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

น่าจะจบเร็วกว่าที่คิด

ดูรูปการณ์แล้ว หลังจากทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องให้วินิจฉัยการเป็นนายกฯ ๘ ปี ไปเรียบร้อยก็น่าจะนับถอยหลังได้เลย

ถือว่าส่งเร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

นี่แค่ประมาณ ๑๐ วันเองครับ

หลังจากนี้ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะนัดฟังคำวินิจฉัยเมื่อไหร่

การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน

หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวาง ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ศาลอาจเรียกพยานมาไต่สวนเพิ่มเติ่ม

ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพอสมควร

หากศาลรัฐธรรมนูญมองว่า กรณีนายกฯ ๘ ปีเป็นเพียงปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเรียกพยานหลักฐาน ก็สามารถวินิจฉัยได้ทันที

ก็จบเร็วครับ

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญอาจเรียก พยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้

กรณีนายกฯ ๘ ปี ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ​ ๒๕๖๐ (กรธ.) และ “ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกา” และอดีตเลขานุการกรธ. ยื่นคำให้การภายใน ๑๕ วัน เช่นกัน

ไทม์ไลน์การยื่น ใกล้เคียงกับ ทีมกฎหมายลุงตู่ ฉะนั้น จึงมีแนวโน้มจบเร็วสูง

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

มีบันทึกกรณีนายกฯ ๘ ปี ที่ยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก นั่นคือ เอกสาร ที่ชื่อว่า “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐”

เอกสารที่ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ อย่างถูกต้อง

ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ แตกต่างจากการเรียกขานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ที่มักจะเรียกเอกสารลักษณะนี้ว่า…

เจตนารมณ์

เพราะคณะกรรมการ ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า การพิจารณาเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญนั้น ต้องพิจารณาตามหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษร

กล่าวคือ การพิจารณาจากบทบัญญัติที่ได้บัญญัติไว้เป็นสำคัญ ดังนั้น ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงได้พัฒนาการจัดทำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเรียกว่า

“การจัดทำความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐”

เนื้อหานอกจากจะบอกเล่า ความมุ่งหมายและความหมายแล้ว

ยังจะบอกเล่าถึงเหตุผล ความเป็นมาของแนวคิดที่นำมาบัญญัติ พัฒนาการของมาตรานั้นๆตั้งแต่ในอดีตจนถึงแนวความคิด และความมุ่งหมายล่าสุดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรานั้น ๆ ด้วย โดยหวังว่าจะได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

ทั้งที่เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งเพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาหากมีเหตุให้ต้องตีความ

ครับ…นั่นคือ “คำนำ” ของ เอกสาร “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐”

สาระสำคัญคือ ใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาตีความ

ไปดูมาตราที่เกี่ยวข้องกับ กรณี นายกฯ ๘ ปีครับ

มาตรา ๑๕๘ มีคำอธิบายประกอบดังนี้

…รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้วางหลักการใหม่ในการแต่งตั้ง บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๕๙ โดยกำหนด หลักการให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น โดยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่าบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือบุคคลใด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่าถ้าตนเลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี

และเนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นกิจการของสภาผู้แทนราษฎรโดยแท้ จึงกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนด ข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจาก ตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

การกำหนดระยะเวลา แปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้…

ใช่ครับ…นี่คือหลักการใหม่ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในอดีต ระบุถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีโดยคำนึงถึงประชาชนมากเท่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แล้วหลักการนี้สามารถนำไปตีความกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นได้หรือไม่

และนั่นจะเป็นคำตอบว่า วาระ ๘ ปี ของ “ลุงตู่” แท้ที่จริงแล้วเริ่มต้นเมื่อไหร่กันแน่

คำอธิบายในมาตรา ๑๕๙ ก็ระบุไปในทิศทางเดียวกัน

…บทบัญญัติในวรรคหนึ่งแห่งมาตรานี้เป็นการวางหลักการใหม่เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับการเป็นรัฐมนตรี รวมทั้งจะต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติเสนอรายชื่อล่วงหน้า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ทราบและเป็นเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจในการลงคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองใด อันเป็นการเน้นถึงความสำคัญของพรรคการเมืองที่จะต้องพิจารณาบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี

แนวคิดในเรื่องการให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองประสงค์จะสนับสนุน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อบรรลุเป้าหมาย ๓ ประการ คือ

ประการแรก เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่าถ้าตนเลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้สมัครผู้ใด ประชาชนจะต้องพิจารณา ทั้งตัวบุคคลที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นโยบายของพรรคการเมือง และตัวบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นเสนอให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากพรรคการเมืองนั้นได้รับคะแนนเสียงข้างมาก

ประการที่สอง พรรคการเมืองต้องคัดสรรบุคคลที่จะเสนอให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีอย่างเข้มงวดโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ

ประการที่สาม เป็นการป้องกันมิให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก นำบุคคลที่ประชาชนไม่เคยรับรู้มาก่อนมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าประชาชนรู้ล่วงหน้าว่าจะนำบุคคลเช่นนั้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประชาชนอาจไม่ลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นและพรรคการเมืองนั้นก็ได้

แนวคิดนี้เป็นการสอดคล้องกับระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ลงคะแนนครั้งเดียวแต่ส่งผลต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี…

ครับ…ในทางกฎหมาย นายกฯลุงตู่ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗ กับนายกฯลุงตู่ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง

รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ คือสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ วางหลักการใหม่

หลักการนี้ย้อนกลับไปบังคับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗ ได้หรือไม่

คำตอบอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ


Written By
More from pp
“ส.ส.ภูดิท” พิจิตร เขต 2 พปชร. ประสานสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 สำรวจบ่อน้ำบาดาลในอำเภอตะพานหิน
“ส.ส.ภูดิท” พิจิตร เขต 2 พปชร. ประสานสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 สำรวจบ่อน้ำบาดาลในอำเภอตะพานหิน พร้อมรับข้อเสนอจากประชาชนอำเภอทับคล้อ ขอใช้ที่ดินราชพัสดุขุดอ่างเก็บน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่
Read More
0 replies on “ความมุ่งหมาย ‘นายกฯ๘ปี’ – ผักกาดหอม”