การรถไฟแห่งประเทศไทยชี้แจงภาพของแบบอาคารสถานีรถไฟอุบลราชธานีที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพเก่า ปัจจุบันได้มีการออกแบบใหม่แล้ว โดยยึดหลักมีอัตลักษณ์สวยงาม ทันสมัย และอำนวยความสะดวกให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ
กรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอรูปภาพสถานีรถไฟอุบลราชธานี ในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี โดยระบุว่าเป็นการออกแบบที่ไม่ทันสมัยนั้น ศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม ขอเรียนชี้แจงว่า
ภาพสถานีอุบลราชธานี ในโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ที่สื่อออนไลน์ได้นำไปเผยแพร่นั้น เป็นภาพเก่า ซึ่ง รฟท. ได้จัดทำขึ้นในช่วงของการจัดทำร่างแบบเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยขณะนั้นยังเป็นภาพมุมมองสามมิติ (Perspective) ไม่ได้มีการลงรายละเอียด ด้านสถาปัตยกรรมของอาคารสถานีแต่อย่างใด
โดยต่อมา รฟท. ได้ดำเนินการออกแบบสถาปัตยกรรมอาคารสถานีขึ้นใหม่โดยเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ซึ่งเมื่อมีการปรับแบบแล้ว ทำให้แบบการก่อสร้าง และปรับปรุงอาคารสถานีอุบลราชธานี มีความทันสมัยและคงอัตลักษณ์ประจำจังหวัดที่สวยงาม ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่า โดยได้จัดทำแบบเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในรายละเอียดของการจัดทำแบบสถานีอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี รฟท. ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นสถานีขนาดใหญ่ ที่ถูกกำหนดให้อยู่ที่ระดับดินเนื่องจากเป็นสถานีปลายทางและเป็นย่านสำหรับการจัดขบวนรถและซ่อมบำรุง ในขั้นตอนการออกแบบจึงดำเนินการด้วยความพิถีพิถัน ใส่ใจในทุกรายละเอียด โดยมีการดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือการปรับปรุงอาคารสถานีเดิม และการก่อสร้างอาคารสถานีใหม่
- อาคารสถานีเดิม ที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัด ไม่เพียงพอรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นจากการก่อสร้างเป็นทางคู่ในอนาคต แต่ด้วยสภาพอาคารสถานีที่ยังมีความสมบูรณ์แข็งแรง และมีรูปแบบที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ รฟท. จึงกำหนดแนวคิดของการออกแบบ ให้มีการปรับปรุง และจัดพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารสถานีใหม่ ให้มีความเหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ส่วนงานของ รฟท.
- อาคารแห่งใหม่ ได้ออกแบบก่อสร้างให้อยู่ด้านข้างอาคารสถานีเดิม โดยสร้างเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีลิฟต์และบันไดเลื่อน เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีความทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยชั้น 1 เป็นพื้นที่ขายตั๋ว ห้องน้ำ ร้านค้า ห้องประชุม ห้องปฐมพยาบาล พื้นที่พักคอย
ชั้น 2 เป็นพื้นที่พักคอย ห้องน้ำ ห้องพักคอยสำหรับ VIP
ชั้น 3 เป็นทางเดินเชื่อมออกไปยังสะพานลอย เชื่อมชานชาลา
สำหรับการออกแบบอาคารส่วนเพิ่มเติมนี้ ยังกำหนดให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับอาคารสถานีเดิมเพื่อให้ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภาพรวม โดยการนำดอกบัวซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบทางเข้าอาคารด้วย
“รฟท. ขอย้ำว่า พร้อมรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงโครงการลงทุนและการให้บริการในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน และครอบคลุมครบถ้วน โดยคำนึงถึงความทันสมัย คงอัตลักษณ์ประจำจังหวัดที่สวยงาม ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของการให้บริการต่อประชาชนเป็นสำคัญ