ข่าวดีและข่าวร้าย-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

มีข่าวดีมาบอก….

วานนี้ (๑๐ มิถุนายน) ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เสวนาความก้าวหน้าของวัคซีน ChulaCov19 ภายในงาน MDCU’s Next Step in Research & Innovation ครบรอบวาระ ๗๕ ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ตามนี้ครับ….

“…ความคืบหน้าของวัคซีน ChulaCov19 ผลิตเสร็จเรียบร้อยในฐานการผลิตที่ประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) คู่ขนานกับการเปิดรับอาสาสมัครจำนวน ๓๖ คน อายุประมาณ ๑๘-๖๐ ปี ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากในการหาอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีนที่ผลิตในไทย

จึงได้มีการวางแผนหาข้อตกลงในการทดสอบในอาสาสมัครต่างประเทศด้วย เพื่อให้วัคซีนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

และคาดว่าวัคซีนจะได้รับการขึ้นทะเบียนภายในสิ้นปี ๒๕๖๕ ไม่เกินต้นปี ๒๕๖๖ ที่คนไทยจะได้รับวัคซีน ChulaCov19

แนวโน้มทั่วโลกจะมีการผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ รุ่นที่ ๒ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ ๒ แล้ว และหากมีการประกาศเตรียมขึ้นทะเบียนภายในต้นปีหน้า ทางจุฬาฯ ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมต้นแบบสำหรับวัคซีน ChulaCov19 (รุ่นที่ ๒) เพื่อผลิตและทดสอบในอาสมัครได้ทันที

สำหรับการเตรียมประกาศให้โควิด-๑๙ เป็นโรคประจำถิ่นนั้น การฉีดวัคซีนก็ยังคงจำเป็นเหมือนกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่จะมีการเข้ารับวัคซีนทุก ๑-๒ ปี….”

บางคนอาจคิดว่าตลาดวายแล้ว วัคซีนสัญชาติไทย เพิ่งจะมา ไม่จริงหรอกครับ เรายังอยู่กับโควิดไปอีกสักพักใหญ่

เพราะจากนี้ไปมันคือโรคประจำถิ่น

ความสำคัญของ วัคซีน ChulaCov19 ที่คนไทยมองข้ามไปไม่ได้นั่นคือ ไทยเรามีวัคซีนโควิด-๑๙ เป็นของตัวเองแล้ว

ถึงจะช้าหน่อย แต่ในวันข้างหน้านี่คือพื้นฐานของการผลิตวัคซีนเวอร์ชันถัดๆ ไป

มีไม่กี่ประเทศครับที่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ ด้วยตัวเอง และส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้งนั้น

ฉะนั้นความสำเร็จของไทย จะส่งผลดีในระยะยาว

อย่างแรก ลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ลดดุลการค้าที่ต้องเสียไป

ถัดมา ไทยสามารถต่อยอดวัคซีนให้มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตัวเอง เพราะเรามีองค์ความรู้แล้ว การพัฒนาหลังจากนี้จึงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง

ฉะนั้นเตรียมตัวครับ คราวนี้เต็มแขนอย่างเต็มภาคภูมิ

ไทยทำไทยใช้ไทยเจริญของจริง

นี่คือหนึ่งในตัวอย่าง ที่ภาครัฐและประชาชนต้องให้การสนับสนุน ประเทศจะพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่รอรายได้จากการท่องเที่ยวครับ

ต้องเป็นเจ้าของนวัตกรรมให้ได้

การเป็นเจ้าของนวัตกรรมต้องมีงานวิจัยเป็นเบื้องต้น

ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรครับ มีการพูดกันมานานพอควรแล้วว่า งบประมาณเกี่ยวกับงานวิจัยนั้นรัฐต้องทุ่มให้มาก

ในทางการเมืองงบประมาณส่วนนี้เอาไปหาเสียงไม่ได้ครับ ฉะนั้นเราไม่ค่อยเห็นว่ามีพรรคการเมืองไหนให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ

ผิดกับการพูดถึงงบสวัสดิการ ลด แลก แจก แถม ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มากกว่า

ประเทศที่ไม่มีงานวิจัย ไม่มีทางเป็นเจ้าของนวัตกรรมได้

ประเทศที่มีงานวิจัยขยะไร้คุณภาพเยอะ ก็เป็นเจ้าของนวัตกรรมไม่ได้เช่นกัน

ขณะที่ประเทศไทยรู้ตัวเองดีอยู่แล้วว่าอยู่ในระดับไหนของแผนที่โลก

ฉะนั้นหากอยากเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อยากให้ประชาชนกินดีอยู่ดี เราต้องส่งออกสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรม” ให้ได้มากที่สุด

ข่าวดีไปแล้ว ข่าวร้ายก็ตามมา

นักการเมือง ผู้ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายของประเทศยังคงวนในอ่าง ยังคิดแค่เรื่องอำนาจ

ทำอย่างไรให้ได้อำนาจมา

แต่การใช้อำนาจเพื่อใครก็ยังเป็นคำถามที่ลอยมาเรื่อยๆ

พูดถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ภายใต้ยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” มีการโหมโรงฉายหนังตัวอย่างว่าคราวนี้เด็ดหัว “ลุงตู่” ได้แน่

ส่วนนั่งร้านจะถูกรื้อจนไม่มีที่เหลือให้พรรคร่วมรัฐบาลยืน ก็โม้กันไปครับ เพราะทุกครั้งที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เกทับ บลัฟแหลก กันอย่างนี้

มีอยู่เรื่อง ไม่รู้จะหัวเราะหรือร้องไห้ดี ก็คือ การซักฟอกเพื่อล้มรัฐบาลในครั้งนี้ ฝ่ายค้านหวังยืมจมูกคนอื่นหายใจ

ฝ่ายค้านคงประเมินว่าครั้งนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะล้มรัฐบาลลุงตู่

ความเป็นไปได้ที่ว่ามาจาก “ธรรมนัส พรหมเผ่า” หอบหิ้ว ๑๘ ส.ส.จากพลังประชารัฐ ไปสังกัดค่ายใหม่ พรรคเศรษฐกิจไทย

บวกกับ ส.ส.พรรคเล็ก ที่น่าจะทำให้เปลี่ยนใจไปเข้ากับฝ่ายค้านได้

หากปฏิบัติการย้ายข้างสำเร็จ ก็ล้มรัฐบาลได้

และครั้งนี้ก็อยู่แค่เอื้อมเท่านั้นเอง

อยู่ที่การเจรจาผลประโยชน์ลงตัวหรือไม่

ยิ่งได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” วานนี้ เพื่อไทยก็น่าจะจินตนาการเห็นถึงอำนาจชัดเจนขึ้น

มีประเด็นถามตอบที่น่าสนใจครับ

ถาม : ขณะนี้รัฐบาลยังไม่สามารถนับพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่

ตอบ : ยืนยันว่าอยู่ข้างประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไร

ถาม : หากมีการต่อรองหรือปรับ ครม. แล้วให้โควตาพรรคเศรษฐกิจไทยจะทำอย่างไร

ตอบ : ไม่ต้องมาพูดกัน ประเด็นนี้ตัดทิ้งได้เลย ไม่รับ

ถาม : รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐคนอื่นๆ จะลงมติอย่างไร

ตอบ : บอกตามตรงว่าทุกคนน่าเป็นห่วงหมด ยกเว้น พล.อ.ประวิตร

ถาม : ช่วงนี้ได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร และเป็นห่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่

ตอบ : ได้คุยบ้าง ท่านบอกว่าปีสุดท้ายแล้วก็ปล่อยเสรี

ฟังแล้วมันรื่นหูสำหรับพรรคฝ่ายค้าน อย่างน้อยๆ ก็มีความหวังว่าครั้งนี้ใกล้เคียงที่สุดกับคำว่า “ล้มรัฐบาล”

การอ้างคำพูด “ลุงป้อม” ว่าปีสุดท้ายแล้วปล่อยเสรี มีความหมายทางการเมืองมาก หากการปล่อยเสรีที่ว่านี้คือการโหวตในสภา

แต่หากมีความหมายเช่นนั้นจริง มันก็จะย้อนกลับไปหา “ลุงป้อม” เท่ากับเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของพรรคเศรษฐกิจไทย

ถูกร้องยุบพรรคได้

แต่ก็ไม่ใช่เวลาที่ฝ่ายค้านจะสนใจเรื่องนี้ หากพรรคเศรษฐกิจไทยจะทิ้งรัฐบาลจริง

รวมทั้งไม่สนใจเรื่องที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ประเด็นยาเสพติดที่ออสเตรเลียด้วย

ครับ…การเมืองไทยมันจะเป็นอะไรประมาณนี้ เพราะลำพังเสียงฝ่ายค้านมันล้มรัฐบาลไม่ได้

แต่หากมีเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยมาช่วย มันก็มีโอกาส

นี่คือประเด็นการเมืองนะครับ ไม่ใช่ข่าวบันเทิง

หากใครมองว่า บันเทิง แสดงว่าเข้าใจการเมืองไทยได้ทะลุปรุโปร่งจริงๆ และยอมรับสภาพที่มันจะดำเนินต่อไปได้

จนกว่าจะเด็ดหัวกันหมดครับ


Written By
More from pp
อย. เตือน พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมปนยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถึงอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรยาเกร็กคู จึงเร่งตรวจสอบโดยเก็บผลิตภัณฑ์รวม 7 รายการ จากสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน 3...
Read More
0 replies on “ข่าวดีและข่าวร้าย-ผักกาดหอม”