‘ดร.เอ้-ชัชชาติ’ คู่คี่ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

จู่ๆ ก็หนาวในหน้าร้อนซะงั้น

ราวกับว่า ลมฟ้าอากาศ จะเล่นเอพริลฟูลส์เดย์กับเขาด้วย

เมษาหน้าโง่ ดูจะมีศักดิ์เหนือกว่า เฟกนิวส์ในโซเชียล อยู่หลายขุม

เอพริลฟูลส์เดย์อำกันตามฤดูกาล พอให้อภัยกันได้แบบขำๆ

แต่บางเรื่องเลยเถิด กลายเป็นเรื่องขำไม่ออก

ฝั่งโซเชียลกลายเป็นที่ปล่อยข่าวเท็จ ความลวง เล่าไม่ครบ ไม่ตรงข้อเท็จจริง เรื่องเท็จกลายเป็นจริง จริงก็กลายเป็นเท็จ อยากด่าใครก็จิก ไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ที่ด่าไปนั้นถูกต้องหรือเปล่า

บางคนบ้าคลั่งออกมาเป็นตัวหนังสือ ปล่อยให้เลยเถิดไปตามอารมณ์ สุดท้ายแก้ไขอะไรไม่ได้ ลากเอาพวกจมน้ำไปด้วย

ไร้วุฒิภาวะอย่างสิ้นเชิง

ส่วนผู้คนที่เสพโซเชียล ก็เริ่มจะแยกแยะข้อเท็จจริงไม่ได้

ก็เฮตามกันไป… อยู่ที่ว่ากำลังเชียร์ใครอยู่

ครับ….เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เที่ยวนี้ คนชนะดูเหมือนจะลอยลำ แต่ลึกๆ เลือกตั้งจริง กับเลือกตั้งในโซเชียล อาจกลายเป็นคนละเรื่องกัน

เพราะพฤติกรรมคนโหวตในโซเชียล มักไม่เข้าคูหาเลือกตั้ง

ก่อนนี้ถึงได้อำกันแหลก นายกฯ ในโซเชียลบ้าง ผู้แทนโลกออนไลน์บ้าง

นี่ถ้าเมตาเวิร์สแพร่หลาย มีหวังนายกฯ ได้เดินชนกันตาย

เป็นธรรมเนียมก่อนการเลือกตั้ง ต้องมีการทำโพล

เมื่อคราวเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี  ๒๕๕๖ โพลหลายสำนักสำรวจความนิยมของ หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร กับ พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ

ผลออกมาค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งคู่ผลัดกันนำผลัดกันตาม

คู่คี่กันมาตลอด

พอเข้าคู่หาลงคะแนนกันจริง คุณชายสุขุมพันธุ์ จากประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง ได้ไป ๑,๒๕๖,๓๔๙ คิดเป็น  ๔๗.๗๕%

ส่วน “จูดี้” สวมเสื้อเพื่อไทย ได้ ๑,๐๗๗,๘๙๙ หรือ  ๔๐.๙๗%

มาคราวนี้ ก็อย่างที่รู้กัน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กระแสในโซเชียลให้นำโด่ง และน่าจะนำม้วนเดียวจบ แบบทิ้งคู่แข่งหลายช่วงตัว

แต่แล้ว สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำโพลออกมาสร้างเซอร์ไพรส์ ดีว่าประกาศผลหลังเอพริลฟูลส์เดย์ไป ๑ วัน

ไม่งั้นมันจะกลายเป็นแค่เรื่องอำกันขำๆ

สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ผลสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่  ๒ เมษายน

เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ  โดยสำรวจแยกรายเขต จำนวน ๕๐ เขต ระหว่างวันที่ ๒๑  มีนาคม-๒ เมษายน จำนวนทั้งสิ้น ๒,๐๔๑ ตัวอย่าง

ด้วยการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในพื้นที่แต่ละเขตตามที่กำหนด

เลขที่ออกคือ….

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เพื่อไทยแอบหนุนอยู่ได้ ร้อยละ  ๒๕.๗

ส่วน ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ ๒๐.๓

ชัชชาติ นำอยู่ร้อยละ ๕.๔

ผิดไปจากเสียงโหวตในโซเชียลที่ให้ “ชัชชาติ” นำโด่งทิ้งคนอื่นไม่เห็นฝุ่น

ขณะที่ “ดร.เอ้” เหมือนหายไปกับสายลม

สำหรับคะแนนนิยมผู้สมัครคนอื่นๆ ก็ตามนี้ครับ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้ร้อยละ ๑๑.๖

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ ๑๑.๓

สกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ ๖.๗

รสนา โตสิตระกูล ร้อยละ ๕.๗

น.ต.ศิธา ทิวารี ร้อยละ ๒.๘

ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ ๑๗.๕

ไม่ใช้สิทธิ์ (No Vote) / ไม่เลือก (Vote No) ร้อยละ ๐.๑

ฉะนั้น ร้อยละ ๑๗.๕ ที่ยังไม่ตัดสินใจ ถือว่าคะแนนนิยมของ “ชัชชาติ” กับ “ดร.เอ้” ยังสามารถพลิกไปมาได้

แต่โพลก็คือโพล ของจริงอยู่ในคูหาเลือกตั้ง

สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ไก่กานะครับ

มีอธิการบดีเป็นประธานกรรมการ

เว็บไซต์สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาระบุถึงบทบาทหน้าที่ เอาไว้ชัดว่า

คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานศูนย์วิจัยจะวางนโยบายและแผนงานของสำนักงานศูนย์วิจัยให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยและวัตถุประสงค์การจัดตั้งสำนักงานศูนย์วิจัย ในด้านการบริหารงานจะมีผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบการบริหารงานทั่วไปของสำนักงานศูนย์วิจัยและเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานศูนย์วิจัยทุกคน

นอกจากนี้ อธิการบดียังแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานศูนย์วิจัยคนหนึ่งทำหน้าที่เลขานุการสำนักงานศูนย์วิจัยเพื่อควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานศูนย์วิจัยและช่วยเหลือผู้อำนวยการในการปฏิบัติงาน

ฉะนั้นการทำโพลซึ่งก็คือการทำวิจัยจึงมีความน่าเชื่อถือกว่าโพลตลาดบางสำนัก ที่ไหลไปตามกระแสการเมือง

ตอนนี้โซเชียลเชียร์ “ชัชชาติ” กันลั่น เพราะป้ายหาเสียงขนาดเท่าเสาไฟฟ้าพอดี ติดแล้วไม่บังทัศนวิสัย ของผู้ใช้รถใช้ถนน และผู้คนที่สัญจรบนทางเท้า

ผิดกับผู้สมัครคนอื่น ดูแล้วเกะกะไปหมด

ประเด็นนี้ต้องยกให้ “ชัชชาติ” ครับ ก็ว่าไปตามข้อเท็จจริง เมื่อหาเสียงเรื่องรักษาความสะอาด มันก็ต้องสะอาดตั้งแต่ตอนหาเสียง

ถามว่าผู้สมัครคนอื่นทำผิดกฎหมายหรือไม่…ก็ไม่ผิด

กกต.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ต้องมีขนาดความกว้างไม่เกิน ๓๐  เซนติเมตร ยาวไม่เกิน ๔๒ เซนติเมตร

ส่วนแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน ๑๓๐ เซนติเมตร ยาวไม่เกิน ๒๔๕  เซนติเมตร

สถานที่ติดป้าย ห้ามติด บนเกาะกลางถนน สะพานลอยเดินข้าม สะพานลอยรถข้าม ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน ศาลาที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบภายในระยะ ๑๐ เมตร ตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ อนุสาวรีย์ ป้อมตำรวจ สุขาสาธารณะ สนามหลวง สวนสาธารณะ ฯลฯ

เราจึงเห็นป้ายหาเสียงติดตามเสาไฟฟ้าบนทางเท้าเสียเป็นส่วนใหญ่ และรกตา แต่ไม่ผิดกฎหมาย

ฉะนั้นการหาความนิยมยกแรกจากป้ายหาเสียง ถือว่า  “ชัชชาติ” ชนะขาด ได้ใจชาวโซเชียลไปมากโข

แต่ถามว่า แค่นั้นพอหรือเปล่า

ป้ายหาเสียงไม่ว่าขนาดไหน ติดเยอะไปมันก็ดูรกตา  แต่ถ้าจะโทษต้องโทษ กกต.  เพราะประเทศที่เขาเจริญแล้ว เขาจัดให้ติดป้ายหาเสียงเป็นที่เป็นทาง

ไม่ใช่เกลื่อนเมืองเหมือนที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.แทบทุกคนทำอยู่

ที่มา https://www.thaipost.net/columnist-people/117295/

 


Written By
More from pp
นายกฯ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบางมูลนาก จ.พิจิตร ต้นแบบโรงพยาบาลคุณธรรมที่มีความรักความสามัคคี สอดคล้องนโยบายรัฐบาล พัฒนาคุณภาพการบริการจนได้รับการชื่นชมจากประชาชน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (30 มกราคม 2566) เวลา 16.30 น....
Read More
0 replies on “‘ดร.เอ้-ชัชชาติ’ คู่คี่ – ผักกาดหอม”