รถไฟฟ้าของแสลง-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ช่วงนี้ต้องอยู่ให้เป็น

ต้องเอ็นดู “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นพิเศษหน่อยครับ

ตดก็บอกว่าหอมไว้ก่อน

ไม่ได้ชวนทะเลาะ หรือหลอกด่า อะไรหรอกครับ แต่เมื่อ  “ชัชชาติ” ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว ก็ถือเป็นบุคคลสาธารณะเต็มตัวอีกครั้ง การวิพากษ์วิจารณ์  การติชม เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ “ชัชชาติ” น่าจะรู้ดี และรับได้ ในฐานะตัวแทนประชาชน ๑.๓๘ ล้านเสียง

ความเห็นต่างทางการเมืองเกิดมาจากหลายสาเหตุ ดีหน่อยก็เพราะรับรู้เรื่องราวมาไม่เหมือนกัน ทำให้มีมุมมองที่แตกต่างออกไป

ที่เลวร้ายสุดเพราะกูไม่ชอบมึง!

อย่างหลังถือว่ามีเยอะพอสมควรเหมือนกัน ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น

มาเข้าเรื่องกันครับ…

ต่อจากนี้ไปประเด็นสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว อาจสร้างวีรบุรุษให้คนกรุง หรือไม่ก็มีแค่ โมฆบุรุษ บุคคลผู้ว่างเปล่า ไร้แก่นสาร ไม่ก่อประโยชน์ทั้งส่วนตนแลส่วนรวม

ด้วยความสัตย์จริงตอนนี้เชียร์ “ชัชชาติ” ครับ

เพราะอยากเห็นคนกรุงได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในราคาถูก ถ้า “ชัชชาติ” ทำสำเร็จ ต้องดันก้นขึ้นรถแห่ ฉลองรอบกรุง ๗ วัน ๗ คืน แน่นอน

แต่การไปถึงจุดนั้นได้ เมื่อลงมือปฏิบัติ มันไม่ได้ง่ายเหมือนพูด

ก่อนไปถึงปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว อยากให้ย้อนอดีตกลับไปดู การนำประเด็นสร้างรถไฟฟ้า และค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกมาเป็นนโยบายหาเสียงกันหน่อย

พรรคไทยรักไทย ความหวังใหม่ของคนไทยทั้งชาติในขณะนั้น ใช้นโยบายสร้างรถไฟฟ้า ๑๐ สายในการหาเสียงเลือกตั้งทั้ง ๒ ครั้ง

“ทักษิณ ชินวัตร” ทำให้คนกรุงยิ้มได้จริงหรือไม่

สาวก “ทักษิณ” บอกว่า ก็นี่ไง ปี ๒๕๔๗ “ทักษิณ” เปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน หัวลำโพง-สถานีบางซื่อ ที่นั่งกันอยู่ทุกวันนี้ไง นั่นแหละผลงานทักษิณ

แถมปี ๒๕๔๗ “ทักษิณ” ยังประกาศจะสร้างรถไฟฟ้าอีก  ๗ สาย ระยะทางรวม ๒๙๑ กิโลเมตร วงเงินร่วมๆ ๕ แสนล้านบาท

นี่ไงผู้นำมีวิสัยทัศน์ ถ้าไม่ถูกรัฐประหารในปี ๒๕๔๙  เสียก่อน วันนี้กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าครบทุกสีแล้ว

ครับ…ถึงได้บอกว่ามุมมองอยู่ที่การรับรู้เรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน

จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า

เจ้ารถไฟฟ้าใต้ดินเฟสแรกที่เลื้อยเป็นไส้เดือนนี่ เริ่มต้นสร้างในปี ๒๕๔๒

สมัยที่นายกรัฐมนตรีชื่อ “ชวน หลีกภัย”

มาเสร็จยุคที่ “ทักษิณ” เป็นนายกฯ

ที่จริงการที่สาวก “ทักษิณ” ตั้งข้อสังเกตก็น่าสนใจนะครับ ถ้าไม่มีรัฐประหาร รถไฟฟ้าครบทุกสีแล้ว

แต่มองอีกมุมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๕ ปีกับ ๒๒๒  วัน หาเสียงรถไฟฟ้า ๑๐ สายในการเลือกตั้ง ๒ ครั้ง ต่อให้มีรัฐประหาร ยุค “ทักษิณ” ควรจะมีรถไฟฟ้าเพิ่มสัก ๓-๔ สาย

คุยโม้โออวดว่ารัฐบาลหาเงินเก่ง มีเป็นถุงเป็นถังไม่ใช่หรือ

เทียบกับรัฐบาลเผด็จการห่วยๆ แบบรัฐบาลประยุทธ์ ใช้เวลาใกล้เคียงกันผลออกมาเป็นไงครับ

การนำโครงการในกระดาษมาเคลมว่าเป็นผลงานด้วยนั้น หากจะให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลอื่นๆ ขอบอกว่ารัฐบาลทักษิณ สู้ไม่ได้หรอกครับ

จะมีสักกี่คนที่รู้หรือจำได้ว่า เมื่อปี ๒๔๔๑ คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ไปดำเนินการออกแบบเส้นทางระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนใน กรุงเทพมหานคร

โดยใช้ความล้มเหลวของโครงการโฮปเวลล์และโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินเป็นบทเรียน ซึ่งจากการพิจารณาและคาดการณ์การเติบโตของเมืองในระยะสั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้พิจารณาและแบ่งการดำเนินการออกเป็นสามระยะ คือ

“ระยะที่ ๑ (ปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๔)” เป็นระยะของการปรับตัวพัฒนา เพื่อการขนส่งภายในเมืองทั้งระบบ

“ระยะที่ ๒ (ปี พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๖๔)” เป็นระยะของการพัฒนาใหม่ที่ยั่งยืน เพื่อเปิดให้บริการเป็นเส้นรอบวง กระจายผู้โดยสารในเมืองอย่างทั่วถึง

“ระยะที่ ๓ (หลังปี พ.ศ.๒๕๖๔)” เป็นการพัฒนาระยะยาว เปิดเส้นทางสู่ย่านชานเมือง และรองรับผู้โดยสารจากชานเมืองเข้าสู่ในเมือง

นั่นคือแผนแม่บท โดยคณะรัฐมนตรี ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “ชวน หลีกภัย”

 มาเรื่องรถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย หลายพรรคการเมืองนำมาหาเสียง ผ่านไปกว่า ๑๐ ปีแล้ว  ๒๐ บาทอย่างเก่งไปได้แค่ ๒ สถานี ที่เหลือเดินเอา

การหาเสียงเลือกตั้งปี ๒๕๕๔ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ไปขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีอารีย์ลงสถานีอโศก ไปต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน เอ็มอาร์ที ไปลงสถานีศูนย์วัฒนธรรม

แล้วแถลงข่าวว่า

“นโยบายรถไฟฟ้า เอ็มอาร์ที ๒๐ บาทตลอดสาย มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจร เพราะปัจจุบันมีรถจำนวนมาก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดมลภาวะ และนโยบายนี้เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชแล้ว ทั้งหมดนี้เราจะเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว”

รัฐมนตรีคมนาคมยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์มีอยู่ ๓ คนครับ

พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต

จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

จบด้วย ๒๐ บาทได้ ๒ สถานีเหมือนเดิม ไม่มีอะไรขยับ ทั้งๆ ที่ตอนหาเสียงไปบอกชาวบ้านว่าจะเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว

วันนั้นคนมีหน้าที่เกี่ยวข้องให้คำตอบได้ระดับเทพมากครับ

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ไม่รู้เรื่องรถไฟฟ้ามากหรอกครับ อาจเคยขึ้นไม่กี่ครั้งด้วยซ้ำ แต่คีย์แมนขณะนั้นคือ ประภัสร์ จงสงวน มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ช่วย รมว.คมนาคม บอกว่า

 “…เรื่องการเก็บค่าโดยสาร ๒๐ บาทตลอดสายนั้น เป็นนโยบายของผม ต้องการผลักดันโครงการเกิดขึ้นได้ก่อนที่การก่อสร้างโครงข่ายจะครบทั้ง ๑๐ สาย แต่ก็ต้องไปดูว่าทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็ไม่ผิดสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ เพราะตอนหาเสียงบอกไว้ว่าจะเก็บ ๒๐ บาทเมื่อสร้างรถไฟฟ้าครบ  ๑๐ สายทางแล้ว…”

สรุปคืออะไรครับ ตอนหาเสียงลืมคิดเรื่องนี้ไปหรือไร

มันเข้าข่ายต้มประชาชนหรือเปล่า ใครรู้ช่วยตอบที

หลังจากนั้น “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เข้ามารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ไปเล่นเรื่องใหม่แล้วครับใหญ่กว่าเดิมมาก

รถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสายถูกกองทิ้งไว้ หันมาเสนอ  อภิมหาโปรเจกต์ ปฏิวัติโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง มูลค่า ๒ ล้านล้าน

ตามให้ทันนะครับ จาก ๒๐ บาทตลอดสาย ไป ๒ ล้านล้าน

กองเชียร์ “ชัชชาติ” ตบเข่าฉาด ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ล้มเสียก่อน ตอนนี้ได้นั่งรถไฟความเร็วสูง ไม่ต้องอายลาวแล้ว

ถ้าไม่มีรัฐประหารผลงาน “ชัชชาติ” เพียบ

ก็น่าเสียดายจริงๆ ครับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย ไม่น่ารวมหัวกันเสนอร่างกฎหมายนิรโทษโกงให้ทักษิณเลย

ถ้าวันนั้น “ชัชชาติ” ช่วยค้านไว้ ป่านนี้คงได้นั่งรถไฟความเร็วสูงไปกินข้าวเที่ยงที่เชียงใหม่แล้วกลับมานอนที่กรุงเทพฯ กันแล้ว

น่าเสียดายจริงๆ

ครับ…มาถึง สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย  เห็นมีคนไปจับคู่ “ชัชชาติ” ชนกับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ดูให้ดีๆ นะครับ ๒ คนนี้อาจคิดไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า ต้อง “ชัชชาติ” เท่านั้นถึงจะถูกต้อง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีปัญหา สมัยรัฐบาลทักษิณ มีผู้ว่าฯ กทม.ชื่อ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ขอให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติเงินลงทุน ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง ๒.๒ กิโลเมตร

งานโยธาเสร็จมานานแล้ว แต่เปิดให้บริการไมได้ เพราะไม่มีราง ไม่มีสถานี และไม่มีระบบอาณัติสัญญาณ

แต่รัฐบาลไม่ยอม ไล่บี้เอากับเอกชนจะซื้อสัมปทานกลับมาเป็นของรัฐ

ดึงกันไปดึงกันมา สุดท้าย กทม. ตัดสินใจควักเงินลงทุนเอง คนที่เดินทางข้ามฝั่ง กทม.-ฝั่งธนฯ ได้นั่งรถไฟฟ้าสมใจ

 มาที่ส่วนต่อขยาย ขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ฮึ่มๆ กันในรัฐบาลลุงตู่ ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการขอขยายสัญญาสัมปทาน ออกไปอีก  ๓๐ ปี

ทางภูมิใจไทยเขาคัดค้าน ตบเท้ากันไม่เข้าประชุม ครม.มาหลายรอบแล้ว

ฉะนั้นเมื่อ “ชัชชาติ” ไม่อยากต่อสัญญา ก็มี “ศักดิ์สยาม”  นี่แหละเป็นแนวร่วม

ลำพังผู้ว่าฯ กทม.ทำอะไรไม่ได้หรอกครับ ส่วนรัฐบาลเขาก็ยังเถียงกันไม่จบ

เรื่องเงินๆ ทองๆ คุยกันให้ชัดเจนนะครับ ไม่งั้นพลาดขึ้นมามีชื่อติดชาร์ต…

ผู้สร้างตำนานค่าโง่รอบใหม่


Written By
More from pp
กรมควบคุมโรค เผยแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน กรณีโรคโควิด 19 เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันกรณีโรคโควิด 19 เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ (เล่มเหลืองโควิด) ในผู้ที่รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน โดยสามารถขอรับหนังสือรับรองดังกล่าวได้ที่ 4 หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
Read More
0 replies on “รถไฟฟ้าของแสลง-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i 0 || bottom > 0) && top