19 เมษายน 2565 เวลา 09.15 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวแสดงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอที่โอกาสนี้กราบขอโทษต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีที่เกี่ยวข้องมาถึงบุคลากรของพรรคประชาธิปัตย์
ในฐานะหัวหน้าพรรคตนมีส่วนสำคัญในการนำคุณปริญญ์ เข้าพรรค แม้กระบวนการจะต้องผ่านการพิจารณาคณะกรรมการบริหารพรรค และการดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคจะต้องผ่านการลงคะแนนให้ความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคก็ตาม หรือแม้แต่กรณีที่เราไม่อาจทราบการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาในยุคที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคก็หนีไม่พ้น ที่ตนจะต้องรับผิดชอบ
นอกจากนั้น หนีไม่พ้น ที่ตนจะต้องร่วมกับคณะกรรมการบริหารพรรคในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด สิ่งที่เป็นจุดยืนของพรรค
ประการที่ 1 พรรคมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านการคุกคามทางเพศ
ประการที่ 2 พรรคมีความชัดเจนต่อการต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเด็กสตรีและบุคคลในครอบครัว รวมทั้งในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างระหว่างเพศ
สำหรับกรณีของคุณปริญญ์ ขอเรียนให้ทราบว่าพรรคจะไม่เข้าไปปกป้อง และขอเรียนให้ได้รับความสบายใจว่าพรรคจะไม่เข้าไปแทรกแซงใด ๆ ในกระบวนการยุติธรรมเพราะถือว่ากระบวนการยุติธรรมจะทำหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และถือว่าเป็นกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับได้ของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ
ที่สำคัญก็คือ พรรคจะไม่เพิกเฉยดูดายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่จะดำเนินการคือ พรรคจะดำเนินการในเรื่องนี้ดังนี้
ประการที่ 1 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นแม้ว่าคุณปริญญ์จะลาออกจากพรรครวมทั้งสมาชิกพรรคแล้วก็ตาม โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กำหนดมาตรการป้องกัน มาตรการในการแก้ไขปัญหา และมาตรการในการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายต่อไป
มาตรการป้องกันที่ว่านี้รวมถึงมาตรการในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้ามาทำหน้าที่ในพรรคนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ 21 ข้อ ที่มีอยู่แล้วในการต้องตรวจสอบก่อนการรับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคโดยจะได้มอบหมายให้ ดร.รัชดา ธนาดิเรกทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการในเรื่องนี้
ประการที่ 2 พรรคจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการโพสต์ในไลน์ของพรรค โดยจะมอบให้รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ได้เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
สำหรับกรณีที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ 2 ชุดในรัฐบาล คือ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายสตรีแห่งชาติ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ “ตนจะขอลาออกจากประธานคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ต่อไป และต้องขออภัยท่านนายกฯ ด้วยที่ยังไม่ได้แจ้งให้ท่านทราบก่อนแถลงข่าว”