ผักกาดหอม
มาว่าเรื่อง “ปารีณา ไกรคุปต์” กันอีกสักวัน
เธอ “แมน” กว่านักการเมืองชายหลายๆ คนครับ
ไม่โวยวายว่าโดนกลั่นแกล้ง
ไม่โจมตีว่ายุติธรรมสองมาตรฐาน
แต่ “ปารีณา ไกรคุปต์” ทำในสิ่งที่นักการเมืองชายอกสามศอกน้อยคนที่จะทำคือ น้อมรับคำพิพากษาของศาล
“…วันนี้ความผิดของ ปารีณา เปรียบได้กับการลงโทษสูงสุด การลงโทษในคดีมีหลายระดับ คือ เริ่มจากปรับ จำคุก หรือประหารชีวิต ปารีณา ถูกพิพากษาเปรียบเสมือนทำผิดร้ายแรงถูกประหารชีวิต (ทางการเมือง) จากที่ดินพ่อให้มา และนี่คือคดีที่จะเป็นบรรทัดฐานต่อนักการเมืองและข้าราชการต่อไป
ถึงแม้ ปารีณา ไม่สามารถเป็นผู้แทนของท่านได้อีกต่อไป ปารีณา ขอขอบคุณทุกกำลังใจ และจะขอยึดมั่นอุดมการณ์ของ ปารีณา ต่อไป และเราจะได้พบกันอีก ปิดฉาก ปารีณา ไม่เชิญก็ไปมีอะไรก็มา ผู้แทนบ้านๆ ฉบับ ปารีณา เกมส์ในสภาแต่พบกันอีกเร็วๆ นี้นอกสภานะคะ…”
ครับ…น่ายินดีที่ “ปารีณา ไกรคุปต์” ยอมรับ และตระหนักว่ากรณีของตนเอง จะเป็นบรรทัดฐานให้นักการเมืองและข้าราชการต่อไป
แต่มีนักการเมืองบางรายกระเหี้ยนกระหือรือ ฉวยเอากรณีของ “ปารีณา” ไปปลุกระดมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จงเกลียดจงชังรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ถึงขั้นใช้ทุกสถานการณ์ ทุกเหตุผล เพื่อจะแก้ไข หรือเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ให้ได้
“ปิยบุตร แสงกนกกุล” เจ้าเก่า พยายามทำลายรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ด้วยเหตุผล คุมเข้มนักการเมืองมากจนเกินไป
อ้างว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ได้สร้างกลไกใหม่ไว้เข่นฆ่านักการเมือง นั่นคือ มาตรฐานทางจริยธรรม โดยกำหนดให้ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ไต่สวนกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย
หากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้นั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงจริง ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกไม่เกินสิบปีด้วย
“ปิยบุตร” บอกว่า การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมและกลไกการบังคับใช้ขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีข้อควรวิจารณ์ใน ๓ ประการ
มาดูกันว่า ๓ ประการของ “ปิยบุตร” มีอะไรบ้าง
…ประการแรก การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองโดยองค์กรอื่น
มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดกรอบทางจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของวิชาชีพ อาชีพ หรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว องค์กรต่างๆ ต้องปรึกษาหารือพูดคุยกันเพื่อออกแบบมาตรฐานเหล่านี้ใช้ร่วมกันเองในลักษณะ Code of conduct พร้อมกับสร้างกระบวนการบังคับใช้ ตรวจสอบ พิจารณาเรื่องร้องเรียน และมาตรการลงโทษกันเอง
แต่กรณีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับ ส.ส. ส.ว. และ รมต.นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๙ กลับกำหนดให้นำมาตรฐานทางจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดขึ้นใช้กันในองค์กร มาใช้กับ ส.ส. ส.ว. และ รมต.ด้วย โดย ส.ส. ส.ว. และ รมต.ทำได้แต่เพียงกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเท่านั้น
ประการที่สอง การให้ศาลฎีกาวินิจฉัยกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม แบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ ฝ่าฝืนแบบทั่วไป กับ ฝ่าฝืนที่มีลักษณะร้ายแรง โดยกรณีฝ่าฝืนแบบทั่วไป ก็ให้ดำเนินกันเองในองค์กรของตน แต่กรณีฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง ให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน ถ้า ป.ป.ช.เห็นว่าฝ่าฝืนอย่างร้ายแรงจริง ก็จะเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไป
การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ไม่ใช่เรื่องชี้ขาดในทางกฎหมาย ไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดว่าถูกหรือผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมของการปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่ควรให้องค์กรตุลาการเข้ามาชี้ขาดถูกผิด เพราะองค์กรตุลาการมีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยใช้กฎหมายเป็นมาตรวัด ไม่ใช่ใช้ความเหมาะสม
อาจมีกรณีที่ศาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องจริยธรรมหรือวินัยอยู่บ้าง แต่นั่นคือการเข้าไปตรวจสอบทบทวน หรือ Judicial Review ว่าคำสั่งลงโทษทางวินัยนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น ข้าราชการถูกลงโทษทางวินัยจากผู้บังคับบัญชา ข้าราชการย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาว่าคำสั่งลงโทษนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลปกครองไม่ได้พิจารณาว่าผิดวินัยหรือไม่ และไม่ได้เป็นคนตัดสินลงโทษเอง
การกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงเป็นเรื่อง “ผิดฝาผิดตัว” นำเรื่องที่ไม่ใช่ข้อพิพาท ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย ไปให้องค์กรตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด นำเรื่องภายในของแต่ละองค์กรที่จะต้องพิจารณาและลงโทษกันเอง ไปให้องค์กรตุลาการจัดการ
ประการที่สาม บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง สูงเกินไป
ในกรณีที่ศาลฎีการับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลพิพากษา และถ้าศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงจริง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้อีกไม่เกิน ๑๐ ปี
ในส่วนของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มาตรา ๒๓๕ วรรคสี่ ได้ขยายความต่อไปว่า ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตลอดไป ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
พูดง่ายๆ อัตราโทษของการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง นอกจากพ้นจากตำแหน่งแล้ว ก็ยังมี ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งใดๆ ตลอดชีวิต ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิไปกากบาทลงคะแนนเลือกตั้งในทุกระดับอีกไม่เกิน ๑๐ ปี
นี่คือ “การประหารชีวิตทางการเมือง” ไม่ต่างอะไรกับการเอานักการเมืองขึ้นเครื่องประหารกีโยตีนในสมัยก่อน เพียงแต่สมัยนั้น ตัดคอ ปลิดชีวิตทางกายภาพ ส่วนสมัยนี้ คือ ตัดสิทธิ ปลิดชีวิตทางการเมือง…
ครับ…นั่นคือความคิดของ “ปิยบุตร”
แต่มาดูข้อเท็จจริงว่า การเมืองไทยล้มเหลว ตลอดร่วม ๙๐ ปีที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะอะไร
มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ไม่เคยเกิด เพราะ ส.ส., ส.ว.ไม่เคยริเริ่มให้มีสิ่งนี้
ฉะนั้นหากไม่กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองโดยองค์กรอื่น ความล้มเหลวในการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองก็ยังดำเนินต่อไป
เรื่องนี้ไม่ต่างจากที่ “ปิยบุตร” และพรรคพวกโจมตีเรื่องปฏิรูปตำรวจ ว่าไม่สามารถเป็นจริงได้หากให้ตำรวจทำ
มันก็เหมือนกัน
แต่ “ปิยบุตร” ทำราวกับว่า ส.ส. และ ส.ว. เป็นองค์กรใหญ่คับฟ้า ต้องเป็นผู้กำหนดทุกอย่างเองหมด ใครจะมาจุ้นจ้านไม่ได้
ทำไมต้องให้ศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้?
รัฐสภาไทย เคยตรวจสอบกันเองสำเร็จกี่เรื่อง
เอาแค่ กระบวนการยุติธรรมขอตัว ส.ส.ฆ่าคนตาย ไปดำเนินคดีในระหว่างสมัยประชุม แทบทุกครั้งสภาจะอ้างข้อบังคับประชุมสภา อ้างรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมส่งตัวให้ตำรวจ
แทบทุกคนขอใช้เอกสิทธิ์คุ้มครอง ไม่ไปศาล ไม่ไปโรงพัก อ้างเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แบบนั้น
หรือไม่ก็เอาการตรวจสอบกันเองไปเล่นการเมือง เช่นใช้อำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ไปเล่นงานฝ่ายตรงข้าม
สร้างปัญหาฉาวโฉ่ ให้ประชาชนเสื่อมศรัทธารัฐสภาไทยมาแล้วเท่าไหร่
ฉะนั้นต้องยอมรับความจริงครับว่า ไม่มีทางที่รัฐสภาไทยจะจัดการเรื่อง มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ได้ หากไม่ให้องค์กรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
การยอมรับคำวินิจฉัยศาลของ “ปารีณา ไกรคุปต์” เป็นสิ่งที่นักการเมืองทุกคนพึงปฏิบัติตาม
ยิ่งกว่านั้น การยอมรับให้เป็นบรรทัดฐานต่อนักการเมืองและข้าราชการรายต่อๆ ไปที่กระทำผิด มันคือการเปิดโลกทัศน์ให้ คนแบบ “ปิยบุตร” หลุดออกมาจากโลกแห่งความเพ้อฝัน…
ที่เก็บมาจากตำราแผ่นดินเมีย