ผักกาดหอม
สงสัยเพราะติดคุก ๑๕ เดือน ข้อมูลบางอย่างจึงขาดหาย
ออกมาเที่ยวนี้ “เทพไท เสนพงศ์” ทำราวกับตัวเองเหลือนิ้วมา ๓ นิ้ว
ความคิดความอ่านราวกับ “ด้อมส้ม” ตัวพ่อ
ครับ…วานนี้ (๓๐ พฤศจิกายน) “เทพไท” กลับมาเล่นบทกูรูการเมือง วิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยกเหตุผล ๓ ข้อ ทำไมพรรคเพื่อไทยไม่เอาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกล
“….๑.กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ครั้งออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนเกิดการชุมนุมของ กปปส.ขับไล่รัฐบาล
๒.กลัวเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลอายุสั้น เพราะพรรคเพื่อไทยอยากอยู่ครบเทอม เพื่อสร้างผล กู้คะแนนนิยมกลับคืนมา หลังเสียไปจากการเป็นรัฐบาลสลับขั้ว
๓.ถ้า พ.ร.บ.ผ่านไปได้ความสำเร็จ จะเป็นผลงานของพรรคก้าวไกล อาจทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเสียมวลชนกลุ่มหนึ่งไป เพราะเป็นฐานคะแนนเดียวกัน
การอ้างเรื่องความขัดแย้งของสังคม ถ้าหากการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครอบคลุมไปถึงผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับมาตรา ๑๑๒ นั้น เห็นได้ชัดว่าพรรคเพื่อไทยได้เปลี่ยนจุดยืนของตัวเอง ซึ่งเคยเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ผ่านการแสดงท่าทีของนายชัยเกษม นิติสิริ หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นแกนนำรัฐบาล กลับมีท่าทีวางเฉย และอ้างเหตุผลเรื่องความขัดแย้งของสังคมขึ้นมา
ซึ่งในทางกลับกัน ถ้าหากการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ครอบคลุมถึงผู้กระทำผิดมาตรา ๑๑๒ ก็ยิ่งสร้างความแตกแยกมากยิ่งขึ้น
เพราะการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเลือกปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นส่วนตัวเห็นว่า ถ้าจะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมา ก็ควรครอบคลุมถึงการกระทำผิดทางการเมืองทุกกลุ่มทุกกรณี เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในการเลือกปฏิบัติหรือปฏิบัติแบบ ๒ มาตรฐาน ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งทางสังคมไม่จบสิ้น
หากรัฐบาลชุดนี้จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ ตามที่ประกาศไว้ตอนจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องเริ่มต้นจากการให้อภัยต่อกัน มาเริ่มต้นกันใหม่
ถ้ายังมีการกระทำผิดครั้งใหม่อีก ก็ต้องมาดำเนินคดีใหม่ต่อไป…”
“เทพไท” ก็เป็นอดีต กปปส. ย่อมรู้ดีว่าสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ผลมันเป็นอย่างไร
ถ้าใช้สมองคิดสักนิด หากคราวนี้นิรโทษกรรมเหมาเข่งเหมือนเดิม ผลก็ไม่ต่างจากเดิม
อะไรมาดลใจให้ “เทพไท” มองว่า การทำความผิด ม.๑๑๒ คดีอาญาร้ายแรงจากการชุมนุม เช่น ขว้างระเบิด ใช้อาวุธสงคราม เผาสถานที่ต่างๆ คือคดีการเมือง
“เทพไท” มีเจตนาชัดเจน เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิด ม.๑๑๒
ถ้าไม่นิรโทษกรรมให้คนกลุ่มนี้เท่ากับเลือกปฏิบัติ
การอยู่ในคุก ๑๕ เดือนจากคดี ทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ปี ๒๕๕๗ ทำให้ข้อมูลของ “เทพไท” ไม่อัปเดตพอ
ไม่รู้ว่าคนที่ต้องคดี ม.๑๑๒ หลายคนตั้งใจทำผิด
มีความฮึกเหิม ท้าทาย และกระเหี้ยนกระหือรือในการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครอง ให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม
มีการกระทำความผิดซ้ำซาก หวังที่จะจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ในวงกว้าง
นี่คือสิ่งที่ “เทพไท” ไม่รู้ใช่หรือเปล่า?
หรือรู้ดีทุกประการ แต่เพราะมีความชิงชังอะไรบางประการ ทำให้ทัศนะทางการเมืองกลับขั้ว
“เทพไท” ต้องรู้จักตัวเองให้กระจ่าง ก่อนที่จะนำเสนอประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคม
ดคีคอร์รัปชัน เป็นคดีที่น่ารังเกียจที่สุด
ไม่ว่าจะโกงบ้านกินเมือง โกงเลือกตั้ง ล้วนเป็นพฤติกรรมอันน่าอัปยศอดสูทั้งสิ้น
“เทพไท” ใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ
ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาให้มีการพักโทษ “เทพไท” และน้องชายคือ “มาโนช เสนพงศ์” ที่ติดคุกจากคดีเดียวกัน
และถูกปล่อยตัวมาตั้งแต่วันที่ ๕ พฤศจิกายน
“เทพไท” ยังต้องสวมกำไลอีเอ็มต่อไปอีก ๙ เดือนจนกว่าจะครบโทษ
หากวันนี้ “เทพไท” สำนึกแล้วว่าการโกงเลือกตั้ง คือการทำลายประชาธิปไตย ทำลายตัวเองและคนรอบข้าง แน่นอนครับ สังคมย่อมให้อภัย
“เทพไท” จะมีที่ยืนในสังคมอย่างสง่าผ่าเผย
แต่ต้องถ่อมตน
แล้วมีอะไรทำให้ “เทพไท” มั่นใจว่า คนทำผิดคดี ม.๑๑๒ เมื่อได้รับนิรโทษกรรมแล้ว จะไม่ก่อความผิดเดิมซ้ำอีก
บางคนที่ติดคุกอยู่ขณะนี้ ให้แนวร่วมโพสต์รูปลูกผ่านโซเชียล พร่ำเพ้อว่าลูกต้องการพ่อทุกวัน
ทำราวกับว่ากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล เป็นฝ่ายผิด
จับไปขัง ให้ลูกไร้พ่อ
อย่าลืมนะครับ แกนนำ ๓ นิ้วหลายคนตั้งใจทำผิด ม.๑๑๒ แบบซ้ำซาก
ท้าทาย และหยาบคาย!
เป้าหมายเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
ด้วยเงื่อนไขนี้ หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งฉบับก้าวไกล ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่น รวมทั้งรัฐบาล ก็นับถอยหลังได้ทันที
แต่ก็มีทางออก หากเข้าใจคำว่า “นิรโทษกรรม” ดีพอ
ตามกฎหมายอาญา หมายถึง การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่ผู้กระทำได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำผิด กำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด
การนิรโทษกรรม คือ มาตรการทั่วไปทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่มุ่งให้ประชาชนลืมการกระทำความผิดที่ผ่านมาแล้ว ถือเสมือนว่าการกระทำนั้นมิได้เกิดขึ้นเลย
เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดในบางสถานการณ์
การนิรโทษกรรม มีลักษณะที่เป็นการหยิบยกขึ้นมาในภายหลังจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีความขัดแย้งกันทางความคิดที่เกิดความรุนแรงขึ้น
เช่น ความวุ่นวายทางการเมือง ทางการทหาร ทางเศรษฐกิจ
หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เป็นต้น
การนิรโทษกรรม ถือว่าเป็นการให้ความกรุณาแก่ผู้กระทำความผิด
ฉะนั้นการนิรโทษกรรม จะต้องมาพร้อมกับ “สำนึก” ด้วย
ถ้าไม่สำนึกในความผิด ก็เปล่าประโยชน์
เพราะทำผิดซ้ำอีก
หรือต้องนิรโทษกรรมกันไปตลอดกาล