ภาคปศุสัตว์ ร้องรัฐ ข้าวโพดหายไปไหน – สมสมัย หาญเมืองบน

31 มีนาคม 2565 – 3 วิกฤตใหญ่ที่ไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ขณะนี้ ประกอบด้วย วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และล่าสุดวิกฤตร้อนแล้งในไทย ซึ่งมาเร็วและร้อนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ทุกวิกฤตล้วนส่งผลกระทบหลายด้านอย่างที่เราท่านทราบกันมาโดยตลอดทั้งราคาวัตถุดิบราคาอาหารสัตว์ ราคาพลังงาน ค่าบริการขนส่ง

โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์ นอกจากอุปสรรคดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ยังต้องเจอกับปัญหาล่าสุด คือ อากาศร้อน ทำให้สัตว์กินอาหารน้อย ผลผลิตไม่ได้คุณภาพและปริมาณตามเป้าหมาย ซัพพลายออกสู่ตลาดน้อยลงตามไปด้วย

ปัญหาใหญ่สำคัญที่สุดตอนนี้ของภาคปศุสัตว์ที่ถกเถียงกันอย่างไม่มีข้อยุติ คือ เรื่องการขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และราคาแพงมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่ภาครัฐรับทราบปัญหาและอุปสรรคนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดในการแก้ปัญหา ทั้งที่ประกาศห้ามส่งออกแต่พ่อค้าพืชไร่ก็ยังแอบส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีการปลูกข้าวโพด เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อฉวยประโยชน์จากราคาที่สูงกว่าในประเทศไทย โดยไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบหรือจับกุม ก็ยิ่งทำปัญหาการขาดแคลนเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ภาครัฐประกาศมาตรการตรวจสอบสต๊อกวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะคิดว่าจะมีการกักตุน ก็เลือกปฏิบัติตรวจสอบเฉพาะโรงงานอาหารสัตว์ ทั้งที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของภาครัฐอย่างเข้มงวด คือ โรงงานเหล่านั้นต้องรายงานสต๊อกอาหารสัตว์ทุกวันที่ 10 ของเดือน เป็นประจำอยู่แล้ว และผลการตรวจสอบก็เป็นปกติไม่มีการกักตุน

ข้อสังเกตในเรื่องนี้ คือ ทำไมภาครัฐจึงไม่ตรวจสอบโกดังพ่อค้าพืชไร่หรือสั่งการให้แจ้งสต๊อก ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติพื้นฐานที่รัฐควรดำเนินการเมื่อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งขาดแคลน ที่สำคัญพ่อค้าพืชไร่เป็นผู้รับซื้อข้าวโพดโดยตรงจากเกษตรกรย่อมประจักษ์แน่นอนว่า “ข้าวโพดอยู่ที่ไหน” เพราะคุณคือผู้ขาย สามารถแจ้งเบาะแสให้รัฐบาลเพื่อดำเนินการขั้นเด็ดขาดหากกักตุน เพื่อเก็งกำไรให้วงการปศุสัตว์ได้รับความเดือดร้อน

ข้อเท็จจริงของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือ ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวโพดปีละประมาณ 5 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศอยู่ที่ 8 ล้านตัน ต้องนำเข้าประมาณ 3 ล้านตันต่อปี เป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreement : AFTA) ซึ่งไม่มีทั้งโควต้านำเข้าและไม่มีภาษี โดยแหล่งนำเข้าหลัก คือ เมียนมา ประมาณปีละ 1.5 ล้านตัน และคนนำเข้าหลักคือ พ่อค้าพืชไร่ เนื่องจากมีเครือข่ายผู้ติดต่อประสานงานและเชี่ยวชาญการดำเนินการตามขั้นตอนเอกสารส่งออก-นำเข้าที่มีความซับซ้อน โดยรัฐกำหนดช่วงเวลาที่อนุญาตให้นำเข้า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคมของทุกปี เพื่อไม่ให้กระทบกับผลผลิตในประเทศที่ออกสู่ตลาดช่วงเดือนกันยายน-มกราคม ของทุกปี

นอกจากนี้ การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนที่ขาดอีก 1.5 ล้านตัน สามารถนำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนได้ เช่น สหรัฐ บราซิล และอาร์เจนตินา แต่ต้องอยู่ภายใต้โควต้านำเข้าที่รัฐบาลกำหนดไว้ปีละ 54,000 ตัน และมีภาษีนำเข้า 20% หากนำเข้าเกินกว่าโควต้าต้องเสียภาษีในอัตรา 73% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากจนไม่สามารถนำเข้าได้

จากข้อเท็จจริงและมาตรการควบคุมของภาครัฐดังกล่าว ไม่มีหนทางใดเลยที่ประเทศจะมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงพอต่อความต้องการในราคาที่ยุติธรรมกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เพราะต้องแบกต้นทุนแบบนี้เป็นวัฏจักร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกเจอวิกฤตซ้ำซ้อนเช่นในขณะนี้ เป็นปัจจัยผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย รายงานว่าตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับขึ้นไปแล้วถึง 30% และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย หากภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ภาค ขาดแคลนวัตถุดิบ ก็แนวโน้มที่จะหยุดการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนแน่นอน


ดังนั้นภาครัฐจึงควรหามาตรการที่เคร่งครัดให้ผู้ที่กักตุนวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ “คาย” ผลผลิตที่กักตุนไว้ออกมาโดยเร็ว เพื่อดึงให้ราคาลงอย่างสมเหตุผลและส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตอาหารให้เกิดความมั่นคง เพียงพอต่อการเลี้ยงคนไทยโดยไม่ขาดแคลน

Written By
More from pp
2 เมษายน วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ทรูคอร์ปอเรชั่น ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกให้ดียิ่งกว่าพร้อมเดินหน้าสร้างสังคมที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้เป็นวันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก หรือ Autistic Awareness Day
Read More
0 replies on “ภาคปศุสัตว์ ร้องรัฐ ข้าวโพดหายไปไหน – สมสมัย หาญเมืองบน”