อย่าด่วนตัดสิน “ปลาหมอคางดำ” เฉพาะหน้าเร่งจับ-เพิ่มบริโภค

เพียงแค่ 2 สัปดาห์ “ปลาหมอคางดำ” (Blackchin Tilapia) กลายเป็นปลาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง บ้างกล่าวหาว่าเป็น “ปลาวายร้าย” บ้างมองบวก รังสรรค์เป็น “เมนูกู้แหล่งน้ำ” เพื่อร่วมลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในแหล่งน้ำขณะนี้ จึงอยากให้พิจารณาอย่างรอบด้านว่า สถานการณ์ปัจจุบันควรเริ่มแก้ปัญหาเร่งด่วน คือการจับปลาเพื่อลดปริมาณปลาในแหล่งน้ำ และส่งเสริมการบริโภค โดยให้ความรู้ความเข้าใจกับภาคประชาชนให้รับทราบถึงคุณค่าทางโภชนาการ

และขอย้ำว่าปลาชนิดนี้รับประทานได้เหมือนปลาทั่วไป เนื้อปลาทำได้อย่างหลากหลาย ทั้งเมนูในครัวเรือน และเมนูในร้านอาหาร ตัวใหญ่เนื้อเยอะไม่ต่างกับปลานิล ตัวเล็กเนื้อน้อยหน่อยก็ประยุกต์เป็นวัตถุดิบอย่างเหมาะสมได้ อาทิ น้ำปลา ปลาร้า น้ำพริก ปลาเค็ม ปลาหวาน

การเร่งแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในวงกว้างของไทยขณะนี้ โดยเฉพาะใน 13 จังหวัด รอบอ่าวไทยเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีแผนปฏิบัติการเร่งด่วน ที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง ให้ปริมาณปลาลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นต้องควบคุมให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

แต่สิ่งที่มีการสอบถามกันมากขณะนี้ คือการตั้งคำถามว่าปลานี้เข้ามาได้อย่างไร ใครเป็นผู้นำเข้า หากย้อนกลับไปดูลำดับเหตุการณ์การนำเข้าปลาหมอสีคางดำ กรมประมงมีรายงานการนำเข้ามาในประเทศครั้งแรกเมื่อปี 2553 โดยบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เป็นการขออนุญาตนำเข้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 2,000 ตัว และมีการตรวจสอบการนำเข้าโดยเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ขณะที่ปลามาถึงเมืองไทยพบว่าปลาตายจำนวนมาก เนื่องจากการขนส่งนานเกินกว่า 32 ชั่วโมง และยังเหลือปลาที่มีสภาพอ่อนแอ 600 ตัว และเพียง 16 วัน (ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2553 ถึง วันที่ 6 มกราคม 2554) ปลาหมอสีคางดำที่สภาพอ่อนแอทยอยตายทุกวัน จนถึง วันที่ 6 มกราคม 2554 ปลาทยอยตายจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทเอกชนดังกล่าวจึงตัดสินใจยุติการวิจัย และเก็บซากปลาส่งมอบให้กับกรมประมง พร้อมทำลายซากปลาทั้งหมด ตามหลักวิชาการและมาตรฐานที่กำหนด

ปี 2556-2559 ข้อมูลของกรมประมง รายงานการส่งออกปลาหมอสีคางดำแบบมีชีวิตในกลุ่มปลาสวยงาม จำนวน 3.2 แสนตัว ไปยัง 15 ประเทศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากบริษัทเอกชนทำลายปลาทั้งหมดแล้ว (ปี 2554) แต่ไทยยังมีตัวเลขส่งออกดังกล่าว เท่ากับมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกโดยไม่ขออนุญาต

ปี 2560 มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอสีคางดำใน จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี จึงมีการตรวจสอบด้านการละเมิดสิทธิชุมชน กรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ

และในปีเดียวกัน กสม. ยังเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของเอกชนรายดังกล่าวใน จ.สมุทรสงคราม เพื่อดูพื้นที่ สภาพแวดล้อมและฟังบรรยายสรุปการดำเนินการทั้งหมด โดยนักวิจัยของเอกชนยืนยันว่า บริษัทไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาด เนื่องจากมีการทำลายปลาทั้งหมดตามหลักวิชาการแล้วตั้งแต่ปี 2554

กระทั่ง ปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศกระทรวงฯ ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ปลาหมอสีคางดำและปลาหมออื่นอีก 2 ชนิด คือ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ

ช่วงเวลา “สุญญากาศ” ระหว่างปี 2556-2559 ที่มีการส่งออกปลาหมอสีคางดำ โดยไม่มีการขออนุญาตนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ และยังไม่มีการสืบสวนไปจนถึงบริษัทผู้ส่งออกปลาเหล่านี้ สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ที่ย้ำว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ อาจเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1. มีการลักลอบนำเข้า 2. มีการหลุดรอดจากฟาร์มวิจัยของบริษัทเอกชน ซึ่งสัตว์ที่เป็นสัตว์ต่างถิ่นในประเทศไทย มีอีกหลายชนิดที่มาจากการลักลอบนำเข้า

ถึงวันนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบเอกสารการส่งออกปลาหมอสีคางดำ ให้ทราบชื่อบริษัทผู้ส่งออกและเรียกมาสอบสวนตามขั้นตอนตามกฎหมายถึงที่มาของพ่อแม่พันธุ์ปลาได้ ที่สำคัญ หลังจากปี 2559 ไม่ปรากฎตัวเลขส่งออกปลา แล้วปลาที่เพาะเลี้ยงไว้แล้วทั้งหมดอยู่ที่ไหน มีการทำลายตามหลักวิชาการที่กรมประมงกำหนดหรือไม่ เพราะหากหลุดรอดไปในแหล่งน้ำก็จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังตามแก้ปัญหาในวันนี้

ล่าสุด กรมประมง ทำโครงการวิจัยเพื่อหาวิธีควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอสีคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอสีคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งจะกลายเป็นปลาที่เป็นหมันไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ ขณะนี้อยู่ในบ่อทดลองเลี้ยง ต้องใช้เวลาประมาณ 18 เดือน หากผลวิจัยสามารถควบคุมการเพิ่มจำนวนประชากรปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพจะขยายผลไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กรมประมง มีกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคปลาหมอสีคางดำและการจับปลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณปลาในระยะเร่งด่วน และจะดำเนินการควบคู่กับการปล่อยปลาหมอสีคางดำ 4n ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้กำจัดปลาหมอสีคางดำให้หมดได้

ความคืบหน้าการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำอย่างเข้มแข็งแบบนี้ ทำให้เห็น “แสงที่ปลายอุโมงค์” ว่าการแก้ปัญหานี้ไม่ไกลเกินเอื้อม เพียงแต่ต้องใช้เวลาและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ ไม่ปล่อยให้ถูกเป็นผิดและผิดเป็นถูก และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ไศลพงศ์ สุสลิลา

นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

Written By
More from pp
กระทรวงเกษตรฯ ร่วมจัดกิจกรรมจิตอาสา “ชีวิตวิถีใหม่ใต้ร่มพระบารมี…เราสร้างไปด้วยกัน” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2563
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2563 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
Read More
0 replies on “อย่าด่วนตัดสิน “ปลาหมอคางดำ” เฉพาะหน้าเร่งจับ-เพิ่มบริโภค”